คพ.เผยไฟไหม้โรงงานอุตสาหกรรมเคมีเพิ่มขึ้น ควรตรวจสอบสม่ำเสมอ

07 ธ.ค. 2564 | 18:50 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ธ.ค. 2564 | 01:57 น.

คพ.เผยไฟไหม้โรงงานอุตสาหกรรมเคมีเพิ่มขึ้น ควรตรวจสอบสม่ำเสมอ เผย พลาสติก น้ำมัน สารเคมี เป็นเชื้อเพลิงอย่างดี ติดไฟได้ง่าย ให้ความร้อนสูง ทำให้ยากแก่การควบคุม

 

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาเกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานบ่อยครั้ง ข้อมูลสถิติของกรมควบคุมมลพิษ ระหว่างปี 2560 – 2564 มีเหตุเพลิงไหม้โรงงานที่เกี่ยวกับผลิตเม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก โกดังจัดเก็บสารเคมีและน้ำมันเชื้อเพลิง จำนวน 75 ครั้ง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ปี 2564 เกิดเหตุเพลิงไหม้ไปแล้วทั้งสิ้น 24 ครั้ง

ดังนี้ โรงงานผลิตพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก จำนวน 15 ครั้ง โรงงานรีไซเคิลน้ำมันหรือโกดังเก็บน้ำมัน จำนวน 5 ครั้ง และโรงงานผลิตสารเคมี จำนวน 4 ครั้ง โดยเกิดเหตุเพลิงไหม้บริเวณภาคกลางมากที่สุด จำนวน 16 ครั้ง ได้แก่ จังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 5 ครั้ง กรุงเทพมหานคร จำนวน 5 ครั้ง ปทุมธานีและนครปฐม จำนวนจังหวัดละ 2 ครั้ง สมุทรสาคร และเพชรบุรี จำนวนจังหวัดละ 1 ครั้ง

คพ.เผยไฟไหม้โรงงานอุตสาหกรรมเคมีเพิ่มขึ้น ควรตรวจสอบสม่ำเสมอ

นายอรรถพล กล่าวว่า เหตุการณ์ที่ผ่านมาพบว่าเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้แล้วจะมีการลุกลามอย่างรวดเร็ว เนื่องจากพลาสติก น้ำมัน และสารเคมีตั้งต้นต่างๆ เป็นเชื้อเพลิงอย่างดี สามารถติดไฟได้ง่าย ให้ความร้อนสูง ทำให้ยากแก่การควบคุมและดับเพลิง ซึ่งก่อความเสียหายแก่ทรัพย์สินของผู้ประกอบการ มีผู้ได้รับบาดเจ็บและบางกรณีเสียชีวิต มีการแพร่กระจายการปนเปื้อนสารเคมีสู่สิ่งแวดล้อม อาทิ

น้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน และมลพิษทางอากาศจากไอระเหยสารเคมีและเขม่าควันส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียง โดยเฉพาะมลพิษทางอากาศที่เกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์(CO) คาร์บอนมอนออกไซด์ (CO2) ไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) ซัลเฟอร์ออกไซด์ (Sox) ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5) และฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10) มลพิษเหล่านี้จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบทางเดินหายใจของประชาชน

คพ.เผยไฟไหม้โรงงานอุตสาหกรรมเคมีเพิ่มขึ้น ควรตรวจสอบสม่ำเสมอ

 

โดยสาเหตุเพลิงไหม้เกิดจาก 1.การเสื่อมสภาพและชำรุดของเครื่องจักรที่มีอายุการใช้งานมานานและขาดการบำรุงรักษาจนเป็นสาเหตุของความร้อนและประกายไฟ รวมทั้ง ต้นเหตุจากไฟฟ้าลัดวงจร 2.กระบวนการผลิตมีการใช้ความร้อนในการแปรรูป เช่น การหลอมและขึ้นรูปพลาสติกซึ่งมีความเสี่ยง

จากการลุกติดไฟได้ในขณะปฏิบัติงาน 3.มีการจัดเก็บวัตถุดิบและสต๊อกผลิตภัณฑ์ไว้ในโรงงานเป็นจำนวนมาก เช่น น้ำมัน สารเคมี พลาสติก เป็นต้น ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงของเพลิงไหม้มากยิ่งขึ้น 4.ขาดการประเมินความเสี่ยงของโรงงานที่อาจก่อให้เกิดเพลิงไหม้ และ 5.ขาดอุปกรณ์ดับเพลิง และการซักซ้อมในการเผชิญเหตุเพลิงไหม้ของเจ้าหน้าที่โรงงานอุตสาหกรรมและหน่วยงาน

“แนวทางที่สำคัญเพื่อเป็นการป้องกันและลดความรุนแรงของผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินและสุขภาพของประชาชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อกำกับดูแลโรงงานให้ได้มาตรฐานและปฏิบัติตามแผนฉุกเฉินของโรงงานที่ได้กำหนดไว้ การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับโรงงานอุตสาหกรรมที่ทำผิดกฎหมาย และการสร้างการมีส่วนร่วมให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบโรงงาน ร่วมกับหน่วยงานที่กำกับดูแล” นายอรรถพล กล่าว

คพ.เผยไฟไหม้โรงงานอุตสาหกรรมเคมีเพิ่มขึ้น ควรตรวจสอบสม่ำเสมอ