สินเชื่อผู้รับเหมา 1 พันล.จาก SME D Bank มีเงื่อนไข-กู้สูงสุดเท่าไหร่ เช็กเลย

01 ธ.ค. 2564 | 11:13 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ธ.ค. 2564 | 18:13 น.
502

สินเชื่อผู้รับเหมา 1 พันล้านจาก SME D Bank มีเงื่อนไขอย่างไร กู้สูงสุดได้เท่าไหร่ ดอกเบี้ยยังไง เช็กได้ที่นี่ หวังหนุนเอสเอ็มอีรับเหมา เดินหน้าธุรกิจ คว้าโอกาสรับงานภาครัฐ เอกชน

นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เปิดเผยว่า  ธนาคารได้ดำเนินการออกสินเชื่อภายใต้โครงการรสินเชื่อเสริมสภาพคล่องผู้รับเหมาวงเงินรวม 1,000 ล้านบาท 
ทั้งนี้ เพื่อช่วยลดผลกระทบ และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีธุรกิจผู้รับเหมาก่อสร้าง รับจ้างทำของ หรือรับจ้างบริการ  ที่มีผู้ว่าจ้างเป็นหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชน  ได้มีเงินทุนหมุนเวียน นำไปใช้เสริมสภาพคล่อง สามารถบริหารจัดการธุรกิจได้ต่อเนื่อง และพร้อมสร้างโอกาสรับงานจัดซื้อจัดจ้างของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนได้ต่อเนื่อง

สำหรับคุณสมบัติ ผู้กู้เป็นนิติบุคคล ดำเนินธุรกิจรับเหมามาไม่น้อยกว่า 1 ปี  เปิดกว้างทั้งลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่ วงเงินกู้สูงสุดถึง 15 ล้านบาทต่อราย คิดอัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น MLR+1.0% ต่อปี    เปิดรับคำขอกู้จนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2565

ส่วนจุดเด่นของโคงการนั้น อยู่ที่การเติมเงินทุนเหมาะต่อการดำเนินธุรกิจจริงของผู้รับเหมา ในลักษณะเป็นสินเชื่อหมุนเวียนแบบแพ็คเกจ (Total Solution) ควบคู่ในรูปแบบวงเงินกู้ระยะสั้น (P/N) สามารถเบิกจ่ายได้สูงสุด 50% ของงวดงานใดงวดงานหนึ่งที่ทำ   ควบคู่กับเติมเงินเพิ่มในรูปแบบวงเงินสินเชื่อแฟคตอริ่ง โดยรับซื้อลูกหนี้การค้า หรือโอนสิทธิให้ธนาคารได้ไม่เกิน 90% ของมูลหนี้ทางการค้า ช่วยให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องเพียงพอ  รับงานได้ต่อเนื่อง ไม่มีสะดุด

นารถนารี รัฐปัตย์
นางสาวนารถนารี กล่าวต่อไปอีกว่า จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (covid-19) โดยเฉพาะช่วงกลางปี 2564 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างในการบริหารจัดการโครงการ โดยเฉพาะการจัดการด้านแรงงานก่อสร้าง รวมไปถึงปัญหาค่าแรงที่สูงขึ้น การจัดการแคมป์เพื่อลดความเสี่ยง ต้นทุนเหล็กและวัสดุก่อสร้าง ล้วนส่งผลให้ต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสูงมากขึ้นตามไปด้วย ทำให้การดำเนินโครงการก่อสร้างอาจไม่เป็นไปตามแผนนำไปสู่การทิ้งงานและการเลิกจ้างงาน

นอกจากนี้ ปัญหาของภาคการก่อสร้าง ยังส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้างทั้งหมด ทั้งภาครัฐ ประชาชน ภาควัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรและการขนส่ง  ขณะที่ ธุรกิจด้านการก่อสร้างทั้งหมด มีผู้ประกอบการรวมกว่า 136,000 ราย  มีมูลค่าทางเศรษฐกิจคิดเป็น  8-9% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ  
“โครงการสินเชื่อเสริมสภาพคล่องผู้รับเหมาจะมาช่วยให้ผู้ประกอบการรับเหมา มีเงินทุนนำไปใช้เดินหน้าธุรกิจ คว้าโอกาสจากนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมระดับเอสเอ็มอีเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่มีมูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านบาทต่อปี  นอกจากนั้น ยังได้รับอานิสงส์จากนโยบายผ่อนปรนการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะช่วยกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ก่อให้เกิดการลงทุนโครงการใหม่ในช่วงปลายปี 2564 ต่อเนื่องถึงปี 2565"