ประกาศหลักเกณฑ์การ “ปลูกกัญชา” วิธีควบคุม รักษาความปลอดภัย และ เก็บรักษา

28 พ.ย. 2564 | 12:15 น.
อัปเดตล่าสุด :28 พ.ย. 2564 | 19:26 น.
6.2 k

ราชกิจจานุเบกษา ประกาศวิธีการจัดเตรียมสถานที่ หลักเกณฑ์การ “ปลูกกัญชา” ใน 3 ระบบ “ปิด-กึ่งเปิด-เปิด” ควบคุมการปลูก การรักษาความปลอดภัย และการเก็บรักษา มีผลตั้งแต่ 27 เม.ย.64 เป็นต้นไป

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ เรื่อง การจัดเตรียมสถานที่และควบคุมการปลูกกัญชา พ.ศ. ๒๕๖๔ เมื่อวันที่ 26 พ.ย.2564 ที่ผ่านมา โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย.2564 เป็นต้นไป 

 

อาศัยอํานาจตามความในข้อ ๔๕ (๑) แห่งกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ เฉพาะกัญชา พ.ศ. ๒๕๖๔ ประกอบมติคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ ในการประชุมครั้งที่ ๔๓๒-๘/๒๕๖๔ เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษจึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้  
 

 

ข้อ ๑ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป  ข้อ ๒ ผู้รับอนุญาตผลิตกัญชาโดยการปลูกอาจดําเนินการปลูกกัญชาในรูปแบบ ดังต่อไปนี้

 

(๑) การปลูกในระบบปิด (Indoor) ที่เป็นการปลูกในสถานที่ปิด โดยมีการควบคุม สภาพแวดล้อมในการปลูก เช่น แสง อุณหภูมิ ความชื่น การหมุนเวียนของอากาศ ปริมาณ ก๊าซออกซิเจน และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

(๒) การปลูกในระบบกึ่งเปิด ที่เป็นการปลูกในโรงเรือน (Greenhouse) โดยใช้แสงจากธรรมชาติ หรือแสงจากหลอดไฟเทียม และอาจมีการควบคุมสภาพแวดล้อมในการปลูกอื่น ๆ ร่วมด้วย

 

(๓) การปลูกในระบบเปิด (Outdoor) ที่เป็นการปลูกในสถานที่ปลูกแบบแปลงปลูกกลางแจ้ง

 

ข้อ ๓ ผู้รับอนุญาตผลิตกัญชาโดยการปลูกต้องจัดเตรียมสถานที่และควบคุมการปลูกกัญชา ตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

 

(๑) ด้านสถานที่ ให้ดําเนินการ ดังต่อไปนี้

 

(ก) แสดงเลขที่ที่ตั้งและที่อยู่ตามที่ปรากฏในคําขอรับใบอนุญาต (แบบกัญชา ๑) 

 

(ข) แสดงแบบแปลนของตัวอาคาร ชั้น โรงเรือน หรือแปลงปลูกกลางแจ้ง

 

(ค) ประตูทางเข้าออกพื้นที่ปลูกควรทําจากวัสดุแข็งแรงและทนทาน สามารถป้องกัน การเข้าถึงจากบุคคลภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้อง และจํากัดจํานวนประตูเข้าออกให้น้อยที่สุดเท่าที่จําเป็น โดยคํานึงถึงทางหนีไฟด้วย

 

(ง) หากดัดแปลงโครงสร้างของอาคารสถานที่ ต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร 

 

(๒) ด้านการรักษาความปลอดภัย ให้ดําเนินการ ดังต่อไปนี้
(ก) ติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) บริเวณพื้นที่ปลูกรวมถึงบริเวณประตูทางเข้าออก

 

(ข) ต้องมีการควบคุมการเข้าถึงจากบุคคลภายนอก โดยติดตั้งกุญแจล็อคหรือการควบคุม การเข้าออกผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และกําหนดบัญชีรายชื่อบุคคลผู้มีสิทธิเข้าออกพื้นที่

 

(ค) กล้องวงจรปิด (CCTV) ต้องมีระบบบันทึกความจํา และให้สํารองไฟล์ข้อมูล (back-ups data) โดยอาจถ่ายโอนข้อมูลไว้ในอุปกรณ์รูปแบบอื่น ๆ อย่างน้อย 5 เดือน

 

(ง) จัดทําแผนรักษาความปลอดภัยบริเวณพื้นที่ปลูกและพื้นที่โดยรอบ (จ) จัดให้มีรายชื่อผู้รับผิดชอบด้านความปลอดภัย พร้อมทั้งช่องทางการติดต่อกรณีฉุกเฉิน

 

(ฉ) จัดให้มีมาตรการตรวจสอบมิให้บุคคลที่เกี่ยวข้องลักลอบนํากัญชาออกนอกพื้นที่ 1

 

(๓) ด้านการเก็บรักษา ให้ดําเนินการจัดให้มีรายชื่อผู้รับผิดชอบเป็นผู้ควบคุมสถานที่จัดเก็บกัญชา โดยได้รับมอบหมายจากผู้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร

 

(๔) ด้านการควบคุมการปลูก ให้ดําเนินการ ดังต่อไปนี้

 

(ก) ดําเนินการปลูกตามมาตรฐานการปลูก โดยมีคู่มือขั้นตอนการปฏิบัติงานในการควบคุม การปลูกและการเก็บเกี่ยว

 

(ข) ดําเนินการตามขั้นตอนที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น
ในกรณีพื้นที่ปลูกมีขนาดไม่เกิน ๕๐ ตารางเมตร อาจดําเนินการตาม

 

(๒) (ก) และ (ค) หรือไม่ก็ได้

 

ประกาศ ณ วันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔

 

ธงชัย กีรติหัตถยากร

 

รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข 

 

หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสนับสนุนงานบริการสุขภาพ

 

ประธานกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ

        ประกาศหลักเกณฑ์การ “ปลูกกัญชา” วิธีควบคุม รักษาความปลอดภัย และ เก็บรักษา   ประกาศหลักเกณฑ์การ “ปลูกกัญชา” วิธีควบคุม รักษาความปลอดภัย และ เก็บรักษา