แบงก์ปล่อยสินเชื่อ 5.3 หมื่นล้าน “โรงสี” แข่งซื้อสต๊อกดันราคาข้าวขยับ

25 พ.ย. 2564 | 12:13 น.
อัปเดตล่าสุด :25 พ.ย. 2564 | 19:25 น.

วงการข้าวกลับมาคึก "โรงสี" เงินเริ่มสะพัด หลัง 10 แบงก์แข่งปล่อยสินเชื่อเก็บสต๊อกข้าวกว่า 5.3 หมื่นล้าน “หยง” เห็นสัญญาณคำสั่งซื้อ เคลื่อนไหวแรง คาดคู้ค้าเริ่มซื้อตุนมอบเป็นของขวัญ "คริสต์มาส-ปีใหม่-ตรุษจีน" อานิสงส์ “คนละครึ่ง-บัตรสวัสดิการฯ” ดันยอดขายข้าวถุงพุ่ง

“ข้าว” เป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจหลักของไทย จะออกสู่ตลาดมากพร้อมกันในช่วงต้นฤดู ส่งผลให้ "โรงสี" และ "ตลาดกลาง" มีความจำเป็นต้องเร่งระบายสต๊อก เพื่อให้มีสภาพคล่องในการรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาเพิ่มมากขึ้น ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการประกันรายได้ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปีที่ 3 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 โดย กรมการค้าภายใน  กระทรวงพาณิชย์ ได้เรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องเพื่อเร่งดำเนินการทันที จากเห็นสัญญาณราคาข้าวแต่ละชนิด โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ และข้าวเหนียวมีสัญญาณตกต่ำอย่างเห็นได้ชัดก่อนหน้านี้

 

แหล่งข่าวจากคณะอนุกรรมการพิจารณาชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า  โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 รอบที่ 1 หรือ "ประกันรายได้ข้าว" จะมีมาตรการคู่ขนาน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ โครงการชดเชยดอกเบี้ยเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการค้าข้าวที่เข้าร่วมโครงการให้เก็บสต๊อกในรูปข้าวเปลือกและ/ หรือข้าวสาร โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตรา 3% วงเงินจ่ายขาด 540 ล้านบาท ที่ ครม.ได้เห็นชอบไปแล้วนั้น แบ่งเป็นข้าวหอมมะลิ และข้าวเหนียว 1.5 ล้านตัน และข้าวเจ้า ปริมาณ 2.5 ล้านตัน รวม 4 ล้านตัน

 

สำหรับในปีนี้มี 10 ธนาคาร ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการ วงเงินสินเชื่อรวม 5.39 หมื่นล้านบาท อันดับหนึ่งคือ ธนาคารกรุงไทย มีโรงสีเข้าร่วม 87 ราย วงเงินกู้ 3.5 หมื่นล้านบาท รองลงมา ธนาคารกสิกรไทย มีโรงสีเข้าร่วม 40 ราย วงเงินกู้ 9,258.50 ล้านบาท (กราฟิกประกอบ)

 

เปิดรายชื่อธนาคารเข้าร่วมโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้โรงสีเก็บสต๊อกข้าว

ทั้งนี้วิธีการรับซื้อข้าวเปลือก ผู้ประกอบการค้าข้าวที่เข้าร่วมโครงการจะต้องนำเงินกู้ในรูปแบบตั๋วสัญญาใช้เงิน (ยกเว้น ธ.ก.ส.) จากธนาคารไปดำเนินการรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร โดยทางตรงหรือโดยทางอ้อมในช่วงวันที่ 1 พ.ย. 2564 ถึง 30 มิ.ย. 2565 ในราคาตลาดตามการค้าปกติ ส่วนธนาคารพาณิชย์และ/หรือธนาคารของรัฐต้องตรวจสอบข้าวของผู้เข้าร่วมโครงการฯ อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง

 

โดยคณะอนุกรรมการระดับจังหวัดแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบสต๊อกร่วมกับผู้แทนของธนาคารพาณิชย์และหรือธนาคารของรัฐ โดยต้องตรวจสอบสต๊อกครั้งแรกไม่น้อยกว่า 30 วันหลังจัดเก็บ หลังจากนั้นต้องรายงานผลให้ทราบทุกเดือน แต่กรณีตรวจสอบพบว่าปริมาณการสต๊อกข้าวไม่ครบถ้วนจะถือว่าระยะเวลาการชดเชยดอกเบี้ยสิ้นสุดลง กรณีเก็บรักษาข้าวเปลือกไว้ไม่ถึง 60 วัน จะไม่ได้รับการชดเชย

 

สุทธิ สานกิ่งทอง

 

นายสุทธิ สานกิ่งทอง นายกสมาคมค้าข้าวไทย (หยง) กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ราคาข้าวเปลือกกลับมาดีขึ้น จากก่อนหน้านี้อ่อนตัวลงมา จากเรือมีการเลื่อนการเดินทางเข้ามารับสินค้า เพราะมีมรสุม ข้าวเต็มโกดัง ผู้ค้าชะลอการรับซื้อข้าว ประกอบกับค่าระวางเรือสูงขึ้น แต่ช่วงนี้อากาศเริ่มดีแล้ว เรือมีการทยอยเข้ามาแล้ว ทำให้มีความต้องการซื้อข้าวเข้าโกดังเพิ่ม ราคาจึงขยับขึ้น

 

“ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่เวลานี้ เริ่มทยอยออกมา ราคายังทรงๆ ส่วนข้าวหอมมะลิภาคอีสาน ราคาเริ่มดีขึ้น จากโรงสีเริ่มเปิดรับซื้อข้าว เพราะทุกคนต้องมีของป้อนโรงอบตลอดเวลา ที่น่าจับตาคือปลายเดือนนี้ถึงต้นเดือนหน้า ช่วงผลผลิตออกมามากกำลังการอบข้าวของโรงสีภาคอีสานจะมีรองรับเพียงพอหรือไม่ แต่ถ้าผลผลิตออกมามากแล้วไม่มีโรงสีนอกพื้นที่มาช่วยซื้อ ราคาก็อาจจะอ่อนตัวลงได้”

 อย่างไรก็ดี ปกติข้าวทุกชนิดมีราคาที่แข่งขันได้ในช่วงข้าวออกใหม่จากมีความต้องการของคู่ค้า เชื่อว่าผู้ส่งออกต้องการที่จะผลักดันข้าวทุกชนิดออกไปให้มากที่สุดในช่วงปลายปี จากมีความต้องการข้าวสารเพื่อนำไปเป็นของขวัญช่วงเทศกาลคริสต์มาส ปีใหม่ โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ จะขายดีในช่วงตรุษจีน ดังนั้นในช่วงนี้การซื้อขายจะกลับมาคึกคัก

 

ศุภชัย วรอภิญญาภรณ์

 

สอดคล้องกับ นายศุภชัย วรอภิญญาภรณ์ ประธานกรรมการ บริษัท ธนสรรไรซ์ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายข้าวสารบรรจุถุงแบรนด์ “จัสมิน” กล่าวว่า ยอดขายข้าวถุงตลาดในประเทศของบริษัทปีนี้คาดจะขยายตัว 60-70%  จากเน้นในเรื่องราคาประหยัด ขณะที่ตลาดข้าวถุงในประเทศภาพรวมปี 2565 คาดจะยังขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 3% โดยเฉพาะในช่วงที่รัฐบาลมีโครงการคนละครึ่ง และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมาช่วย ทำให้ยอดขายข้าวถุงเพิ่มขึ้น

 

ข้าวถุงแบรนด์ "จัสมิน"

 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,734 วันที่ 25 - 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564