“ลดโลกร้อน”ทำอย่างไร ใครต้องทำบ้าง ฟังจากเสียงประธานหอการค้าไทย

21 พ.ย. 2564 | 17:52 น.
อัปเดตล่าสุด :22 พ.ย. 2564 | 01:19 น.
514

บิ๊กหอการค้าไทยจี้ผู้ประกอบการยกเครื่องครั้งใหญ่ ช่วยลดโลกร้อน วาระไทย-วาระโลก ชี้เป้าหมาย “บิ๊กตู่”ให้คำมั่นโลกไทยลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ปี 2065 จะทำได้หรือไม่ ขึ้นกับหลายตัวแปร ใครบ้างต้องเร่งลงมือ ฟังทางนี้!

 

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมระดับผู้นำรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) หรือ COP26 ณ เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ เมื่อวันที่ 1 พ.ย.2564 โดยได้ประกาศเจตนารมณ์ไทยพร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศ(ลดโลกร้อน)อย่างเต็มที่ในทุกวิถีทาง เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2065 ถือเป็นการคิกออฟส่งสัญญาณให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของไทยต้องเร่งลงมือปฏิบัติตามพันธสัญญาที่ให้ไว้กับชาวโลก

 

“ลดโลกร้อน”ทำอย่างไร ใครต้องทำบ้าง ฟังจากเสียงประธานหอการค้าไทย

 

ขณะที่การประชุม COP26 มีประเด็นสำคัญเกิดขึ้น เช่น สหรัฐฯและจีน สองมหาอำนาจที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากสุดของโลกได้ให้คำมั่นว่าจะทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส และผู้นำจากกว่า 100 ประเทศที่มีพื้นที่ป่ารวมกันคิดเป็น 85% ของป่าไม้โลก รับปากจะยุติการตัดไม้ทำลายป่าภายในปี 2030 และเห็นชอบโครงการลดการปล่อยมีเทนลง 30% ภายในปี 2030 และมากกว่า 40 ประเทศ รวมถึงประเทศที่ใช้ถ่านหินรายใหญ่ เช่น โปแลนด์ เวียดนาม ชิลี เห็นชอบที่จะยกเลิกการใช้ถ่านหิน เป็นต้น อย่างไรก็ดีในมุมมองผู้นำภาคเอกชนไทยต่อ COP26 และอนาคตการลดโลกร้อนของไทยจะสำเร็จได้ตามเป้าหมายหรือไม่ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องทำอย่างไรบ้างนั้น

 

“ลดโลกร้อน”ทำอย่างไร ใครต้องทำบ้าง ฟังจากเสียงประธานหอการค้าไทย

 

นายสนั่น  อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยกับ ”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การประชุมครั้งนี้ในภาพรวมถือว่าประสบความสำเร็จ โดยการที่นานาประเทศได้มีการตั้งเป้าหมายร่วมกัน  เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกจากข่าวและนโยบายที่ออกมาอย่างต่อเนื่องก็เชื่อว่าทำให้ประชาชนตื่นตัวกับสภาพแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ซึ่งการที่ประเทศใหญ่ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะจีน และสหรัฐ ต่างก็จริงจัง และร่วมมือกันมากขึ้น ทำให้ประเทศอื่นที่เป็นคู่ค้าก็ต้องปรับตัวตาม

 

“ในมุมมองของประเทศไทย โดยท่านนายกรัฐมนตรีได้ไปร่วมการประชุมด้วยตนเอง อีกทั้งยังได้มีการพบปะ กับผู้นำประเทศต่างๆ อย่างที่เห็นตามข่าว และเป็นการดีที่ประเทศไทยได้ทำเรื่องนี้มานานทำให้มีผลงานไปรายงานถึงความสำเร็จของประเทศไทยในการลดคาร์บอน”

 

“ลดโลกร้อน”ทำอย่างไร ใครต้องทำบ้าง ฟังจากเสียงประธานหอการค้าไทย

 

สำหรับเป้าหมายในเรื่องต่าง ๆ ของประเทศสมาชิกที่ได้ให้คำมั่นสัญญาในครั้งนี้จะมีความสำเร็จตามเป้าหมายและเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดนั้น มองว่า การตั้งเป้าหมายถือเป็นการแสดงความตั้งใจที่จะดำเนินการ จะเป็นไปได้มากหรือน้อย ขึ้นกับว่าจะมีอุปสรรคหรือไม่ เพราะการที่จะประสบความสำเร็จได้ก็มีเงื่อนไขมากพอสมควร เช่น ของไทยเราเองก็เขียนเงื่อนไขว่าต้องได้รับช่วยเหลือทางการเงินด้วย เป็นต้น แต่ผลดีของการตั้งเป้าหมายจะช่วยให้เกิดการวางยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ต่อไปได้โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการลงทุน เราก็สามารถที่จะวางแผนได้ชัดเจนและมั่นใจขึ้นว่ารัฐบาลก็จะดำเนินการในส่วนของกฎหมาย ระเบียบ และการสนับสนุนต่างๆซึ่งจะเห็นได้จากนโยบายทางส่งเสริมการลงทุน (BOI) และธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งได้ประกาศสนับสนุนแล้ว

 

ดังนั้นในทุกภาคส่วนต้องหันมามอง ในกิจกรรมของตนเอง ทั้งประชาชนและ กิจการต่าง ๆ  ปรับวิธีคิดในแต่ละธุรกิจ โดยหลายส่วนจะต้องมีการปรับสินค้าและบริการหรือกระบวนการผลิต นำนวัตกรรมที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่ทำได้เลยออกสู่ตลาด เพื่อให้แข่งขันได้ ในต้นทุนและราคาที่เหมาะสม

 

สำหรับผู้ประกอบการ แนวทางที่ประเทศไทยนำมาเสริม และส่งเสริมในช่วงนี้ เรื่อง BCG BIO-CIRCULAR-GREEN หรือ BCG (ชีวภาพ หมุนเวียน สีเขียว) ที่ให้ทุกฝ่ายคำนึงถึงและปรับตัว และนำแนวคิด BCG มาใช้ดำเนินธุรกิจ เพราะผลลัพท์ที่ได้ ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการลด การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่นกัน

 

ทั้งนี้หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้มีการให้แนวทางการดำเนินธุรกิจ ที่มุ่งสู่ BIO-CIRCULAR-GREEN แก่สมาชิกทั้ง ผู้ประกอบการขนาดใหญ่และ SMEs รวมถึงมีการส่งเสริมผู้ประกอบการ ทั้งให้ความรู้ แนะนำแนวทาง ผ่านกิจกรรมต่างๆ นำร่องด้วยการจัดทำโมเดล BCG คือนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้ในธุรกิจบริการ  ลดการทิ้งของเสียให้น้อยลงและนำวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ มาใช้ซ้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด  โดยเน้นการจัดการด้าน Food waste และ Plastic waste ใน Supply Chain ธุรกิจท่องเที่ยว และจะถอดบทเรียนทำเป็นคู่มือเพื่อให้ผู้ประกอบการอื่น ๆ นำไปปรับใช้ได้เลย

 

 “การปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต และการบริหารจัดการเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน หรือก๊าซเรือนกระจกของผู้ประกอบการจะทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหนนั้น จริง ๆ แล้วคำนวณยากมาก เพราะแล้วแต่ธุรกิจ แล้วแต่อุตสาหกรรมเลย แต่มองภาพรวมไม่น่าน้อยกว่า 20% ที่ต้นทุนจะเพิ่มขึ้น เวลานี้สำหรับสินเชื่อเพื่อช่วยผู้ประกอบการ ตอนนี้ยังไม่เห็นสินเชื่อเพื่อลดโลกร้อนโดยตรง แต่ที่มีจะเป็นสินเชื่อเพื่อปรับปรุงการผลิต หรือการเปลี่ยนมาใช้พลังงานทดแทน ซึ่งประเด็นเหล่านี้ ทาง ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้มีการติดต่อสภาหอการค้าฯ เพื่อหารือในการช่วยผู้ประกอบการให้ปรับตัวในส่วนนี้ ซึ่งสถาบันทางการเงินก็ควรที่จะออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำมาให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs” นายสนั่น กล่าว  และให้คำแนะผู้ประกอบการไทยในการปรับตัวเพื่อลดโลกร้อนว่า


ต้องรู้ว่า ธุรกิจที่ทำอยู่มีเข้าข่ายทำลายสิ่งแวดล้อมหรือไม่ หากเข้าข่ายก็ต้องแก้ปัญหา และควรจะทำไปข้างหน้าให้ตอบโจทย์สากล ดังนั้นจึงถือโอกาสแนะนำผู้ประกอบการาที่อยู่ในภาคผลิตและส่งออกต้องเริ่มวางแผนปรับกลยุทธ์ว่าจะลดคาร์บอนในกระบวนการผลิตได้อย่างไรและต้องติดตามและศึกษารายละเอียดของประเทศปลายทาง ต้นทาง ว่ามีระเบียบหรือประกาศอะไรที่มีออกมาเพิ่มเติมหรือไม่ และต้องเร่งปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์