อีอีซี เนื้อหอม ไทยดึงฝรั่งเศสลงทุน “คมนาคม-ขนส่ง”

16 พ.ย. 2564 | 15:20 น.
อัปเดตล่าสุด :16 พ.ย. 2564 | 22:23 น.

อีอีซี ยังเนื้อหอม  ไทย-ฝรั่งเศสถกหนุนการค้าการ ลงทุน ชูความร่วมมือด้านนวัตกรรม เทคโนโลยีสมัยใหม่ และคมนาคมขนส่ง พร้อมกล่อมลงทุนในไทย    ด้านฝรั่งเศสสนใจร่วมมือสาขาคมนาคมขนส่ง โดยเฉพาะเส้นทางเชื่อมต่อกับกลุ่มประเทศอาเซียนและจีน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยภายหลังการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านเศรษฐกิจ (High Level Economic Dialogue หรือ HLED) ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ครั้งที่ 4 ผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยมีนางมากาลี เซซานา อธิบดีกรมการค้าทวิภาคีและพัฒนาธุรกิจระหว่างประเทศ

อีอีซี เนื้อหอม ไทยดึงฝรั่งเศสลงทุน “คมนาคม-ขนส่ง”

กระทรวงเศรษฐกิจและการคลังของฝรั่งเศส ได้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ เพื่อหารือแนวทางส่งเสริมความสัมพันธ์และขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน   ว่า ที่ประชุมได้หารือเรื่องการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ โดยไทยเสนอสาขาที่ต้องการร่วมมือกับฝรั่งเศส

 

โดยเฉพาะในด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน (BCG) ของไทยได้ อาทิ เกษตรและอาหาร เครื่องสำอางและน้ำหอม การแพทย์และสุขภาพ การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ สิ่งทอและแฟชั่น ยาง และยานยนต์อัจฉริยะ ในส่วนของฝรั่งเศสสนใจที่จะขยายความร่วมมือกับไทยในสาขาคมนาคมขนส่ง โดยเฉพาะการเชื่อมต่อเส้นทางกับประเทศในกลุ่มอาเซียนและจีนทั้งทางบก ทางราง และทางน้ำ 

โดยที่ผ่านมา ไทยและฝรั่งเศสมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดในหลายด้านทั้งพลังงาน ทรัพย์สินทางปัญญา อวกาศ การบิน และแฟชั่นและออกแบบ ซึ่งที่ประชุมเห็นว่า ควรกระชับความร่วมมือเหล่านี้ให้แน่นแฟ้น    มากขึ้น ซึ่งไทยได้ใช้โอกาสนี้นำเสนอนโยบายและมาตรการส่งเสริมการลงทุนของ BOI และ EEC ที่มีการทบทวนให้รองรับกับวิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้น เพื่อเชิญชวนนักลงทุนฝรั่งเศสเข้ามาลงทุนในไทย

ทั้งนี้ ฝรั่งเศสเป็นคู่ค้าอันดับที่ 23 ของไทยในโลก และเป็นคู่ค้าอันดับที่ 3 ในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป รองจากเยอรมนีและเนเธอร์แลนด์ สำหรับในช่วง 9 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-ก.ย.) การค้าระหว่างไทยและฝรั่งเศส มีมูลค่า 3,023.72 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ซึ่งไทยส่งออกไปฝรั่งเศส มูลค่า 1,373.72 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

 สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ  เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เลนซ์ และยางพารา  และไทยนำเข้าจากฝรั่งเศส มูลค่า 1,650.00 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบินและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ และเครื่องใช้เบ็ดเตล็ด