‘นิ่มซี่เส็ง’ ติดปีก SMEs ภาคเหนือบุกจีน

12 พ.ย. 2564 | 10:26 น.
อัปเดตล่าสุด :12 พ.ย. 2564 | 17:41 น.
683

“นิ่มซี่เส็ง” ยักษ์ขนส่งเหนือ จับมือม.เชียงใหม่ ตั้งศูนย์เรียนรู้สมาร์ทโลจิสติกส์และการค้าปลีก O2O หนุนเอสเอ็มอีภาคเหนือบุกค้าปลีกออน ไลน์เจาะตลาดจีน พร้อมหนุนองค์ความรู้โลจิสติกส์ด่วน “Last Mile Delivery” และเครือข่ายพันธมิตร “Yunda” ขนของรองรับค้าออนไลน์ข้ามแดน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 ที่อาคารศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้ CAMT ม.เชียงใหม่ ผศ.ดร.วรวิชญ์ จันทร์ฉาย คณบดีวิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี (CAMT) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนายชวลิต สุวิทย์ศักดานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิ่มซี่เส็งขนส่ง 1988 จำกัด ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ และเปิดศูนย์การเรียนรู้สมาร์ทโลจิสติกส์ และ CMU O2O

‘นิ่มซี่เส็ง’ ติดปีก SMEs ภาคเหนือบุกจีน

เพื่อร่วมกันจัดตั้งศูนย์เรียนรู้โลจิสติกส์ด่วน สนับสนุนการขนส่งข้ามพรมแดน และการขนส่งแบบ Last Mile Delivery สำหรับธุรกิจบนแพลตฟอร์มออนไลน์ สนับสนุนร่วมมือการสร้างบัณฑิตและบุคลากร ที่มีทักษะระบบสารสนเทศเพื่อโลจิสติกส์ และการขนส่งข้ามพรมแดน และสนับสนุนการทดลองการวิจัยเชิงปฏิบัติการ ที่เกี่ยวกับการขนส่งด่วนข้ามพรมแดน และโครงการยกระดับผู้ประกอบการด้วยตัวแบบ “การค้าปลีกใหม่” (New Retail)

พิธีลงนามบันทึกความร่วมมือพัฒนาองค์ความรู้โลจิสติกส์สมัยใหม่และการค้าออนไลน์ข้ามแดน

‘นิ่มซี่เส็ง’ ติดปีก SMEs ภาคเหนือบุกจีน

นายชวลิต สุวิทย์ศักดานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิ่มซี่เส็ง ขนส่ง 1988 จำกัด เผยว่า ความร่วมมือครั้งนี้ ถือเป็นก้าวย่างสำคัญสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมโลจิสติกส์เชิงดิจิทัล ที่ผ่านมาทางบริษัทฯ มีความร่วมมือกับ CAMT มาอย่างต่อเนื่อง การลงนามบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้ จึงเปรียบเสมือนการสร้างพันธสัญญาระหว่างกันอย่างเป็นทางการ เพื่อให้การทำงานร่วมกันต่อจากนี้มีทิศทางเป้าหมายที่ตรงกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการพัฒนาโลจิสติกส์ด่วน และโลจิสติกส์ข้ามแดนสู่จีน ซึ่งทางนิ่มซี่เส็งขนส่งฯ ได้ดึงเอาพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็นบริษัท Nim Express และบริษัท Yunda โลจิสติกส์ด่วนชื่อดังจากประเทศจีน มาร่วมในศูนย์สมาร์ทโลจิสติกส์ที่ CAMT ซึ่งจะทำให้ศูนย์ฯดังกล่าวเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านโลจิสติกส์ที่ทันสมัยและครบวงจร

‘นิ่มซี่เส็ง’ ติดปีก SMEs ภาคเหนือบุกจีน

‘นิ่มซี่เส็ง’ ติดปีก SMEs ภาคเหนือบุกจีน

ด้านผศ.ดร.วรวิชญ์ จันทร์ฉาย คณบดีวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี (CAMT) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า บทบาทหนึ่งของมหาวิทยาลัย คือ ให้บริการองค์ความรู้แก่สังคม ซึ่งของ CAMT ทำมีอยู่หลายเรื่อง โดยเน้นเรื่องของไอทีว่า ทำอย่างไรให้องค์กรธุรกิจ หรือ SMEs ได้รับการพัฒนา

สิ่งที่สำคัญคือตอนนี้เรามีผลิตภัณฑ์มีของแล้ว แต่จะขายอย่างไร จะส่งอย่างไร เป็นองค์ความรู้ที่เราจะช่วย SMEs รวมกลุ่มมาเจอผู้มีความรู้ ที่ศูนย์เรียนรู้สมาร์ท โลจิสติกส์และ CMU 020 เพื่อให้เกิดความเกี่ยวเนื่องหรือเชื่อมโยงกัน และทำให้ธุรกิจสามารถเดินต่อได้ในสถานการณ์วิกฤติโควิดนี้

ขณะที่ ดร.ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ รองคณบดีฝ่ายบริการสังคมและวิจัย CAMT กล่าวว่า การเปิดศูนย์การเรียนรู้ฯ จะทำให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้ามาฝึกฝน และใช้บริการแพลตฟอร์มการค้าปลีกใหม่ แบบ O2O และโลจิสติกส์ด่วนแบบ Last Mile Delivery รวมถึงรูปแบบการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน แบบค้าปลีกสู่ตลาดประเทศจีน

CAMT ได้พัฒนาหลัก สูตรสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ให้มีทักษะเชิงดิจิทัล เพื่อการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนสู่ตลาดจีน รูปแบบการบริหารจัดการร้านค้าไร้แคชเชียร์ และการขนส่งด่วนในระยะสุด ท้าย รวมถึงการจัดตั้ง “หน่วยพัฒนาพาณิชย์ดิจิทัล” (Unit of Digital Commerce) เพื่อสร้าง Startups บนฐานแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์

ซึ่งเป็นผลดีต่อการผลักดันสินค้าของกลุ่ม SMEs เพื่อเข้าสู่ตลาดประเทศจีน ผ่านเส้นทาง R3A ภายใต้รูปแบบการค้าออนไลน์ข้ามแดน ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญที่ศูนย์ China Intelligence Center (CIC) ของ CAMT ได้ดำเนินการร่วมกับเครือข่ายสมาชิก Biz Club เชียงใหม่

ซึ่งศูนย์ CIC ได้รับงบประมาณจากกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง สาธารณรัฐประชาชนจีน ในการสร้างระบบนิเวศทางการค้าครบวงจร เพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างกัน

ดร.ดนัยธัญ กล่าวอีกว่า ศูนย์ฯแห่งนี้จะเป็นพื้นที่สำหรับ SMEs สามารถได้มาฝึกปฏิบัติการ ในรูปแบบการขนส่งโลจิสติกส์สินค้าจากไทยไปยังประเทศจีน เพื่อเชื่อมโยงกับแพลตฟอร์ม ที่ CAMTได้ทำไว้ ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเอาสินค้าไปอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ของจีน แล้วเปิดการขายกับคนจีนได้โดยตรง

เดิมสินค้าจากไทยไปจีนเมื่อก่อนเกิดโควิด อาจจะพึ่งพานักท่องเที่ยวที่เข้ามาดูของแล้วซื้อไป แต่หลังโควิดที่นักท่องเที่ยวจีนก็ยังไม่กลับ ต้องปรับรูปแบบเปลี่ยนกลยุทธ์ ไปใช้อินฟลูเอนเซอร์จีนที่อยู่เชียงใหม่ ให้เขามาดูสินค้าตรงนี้ โดยเรามีบริการในเรื่องระบบโลจิสติกส์และระบบหลังบ้านให้ เพื่อส่งสินค้าไปให้ลูกค้าถึงเมืองจีน คาดหวังว่าวิธีการใหม่นี้จะทำให้ยอดขายที่ตกลงกลับมา กระเตื้องขึ้นได้

นอกจากนี้ ด้านผู้ให้บริการขนส่งโลจิสติกส์ การร่วมมือกับนิ่มซี่เส็งฯ ซึ่งมีนิ่มเอกซ์เพรสด้วย จึงสามารถใช้เป็นศูนย์ฝึกฝนผู้ประกอบการ ให้ขนส่งสินค้าจากภาคเหนือไปกระจายได้ทั่วประเทศ หรือจากทั่วประเทศมาที่เชียงใหม่ได้ ช่วยให้มูลค่าการค้ากลับคืนมา 

นภาพร ขัติยะ/รายงาน
หน้า10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,731 วันที่ 14-17 พฤศจิกายน พ.ศ.    2564