ค่าครองชีพเดือนต.ค. 64 และอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับลดลงอยู่ที่ 34.9 และ 36.7

09 พ.ย. 2564 | 13:53 น.
อัปเดตล่าสุด :09 พ.ย. 2564 | 21:10 น.

ความกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นฉุด KR-ECI เดือนต.ค. 64 ให้ปรับลดลงราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องประกอบกับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมทำให้ราคาสินค้าเร่งตัวขึ้นในระยะสั้น

ในเดือนต.ค. 64 ครัวเรือนมีกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพ เนื่องจากราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมทำให้ราคาพืชผักสูงขึ้น โดยดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR Household Economic Condition Index (KR-ECI)ในเดือนต.ค. 64 และอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับลดลงอยู่ที่ 34.9 และ 36.7 จากในเดือนก.ย.64 ที่ 36.6 และ 38.4

 

 

แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจะเริ่มทรงตัว สถานการณ์โควิด-19 จะเริ่มเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น หลังอัตราการฉีดวัคซีนเป็นไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีการทยอยผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น แต่ราคาสินค้าต่าง ๆ ที่ปรับสูงขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน

 

ค่าครองชีพเดือนต.ค. 64 และอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับลดลงอยู่ที่ 34.9 และ 36.7

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรับมือและการจัดการของครัวเรือนต่อราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นพบว่า ครัวเรือน 41.0% จะลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป เช่น การไปท่องเที่ยวในช่วงปีใหม่ ขณะที่อีก 39.4% ระบุว่าจะใช้สินค้าอุปโภคบริโภคในปริมาณที่น้อยลงต่อครั้งเพื่อให้ใช้ได้นานขึ้น ซึ่งวิธีการรับมือต่าง ๆ ของภาคครัวเรือนจะเห็นว่าเป็นการลดทอนแรงหนุนจากการบริโภคครัวเรือนที่จะมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

 

          ในระยะข้างหน้า การเริ่มเปิดประเทศ (1 พ.ย. 64) และการผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มการระบาดต่าง ๆ จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเพิ่มขึ้นได้ ในขณะที่ผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมต่อการปรับขึ้นของราคาพืชผักอาจมีแนวโน้มผ่อนคลายลงได้บ้าง หลังระดับน้ำท่วมเริ่มลดลงและเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว

แต่สถานการณ์ราคาพลังงานโลกที่อยู่ในระดับสูงอาจต้องใช้เวลาในการปรับสมดุลระหว่างความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นและปริมาณการผลิตจึงอาจยังเห็นราคาพลังงานที่สูงกดดันต้นทุนค่าขนส่งและอาจส่งผลกระทบมายังต้นทุนสินค้าและบริการอื่น ๆ ทำให้ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนจึงยังมีแนวโน้มเปราะบางจากสถานการณ์พลังงานที่อยู่ในระดับสูง ดังนั้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในส่วนของการบริโภคยังมีความจำเป็นต่อเนื่องควบคู่ไปกับการดำเนินการเปิดประเทศด้วยมาตรการป้องกันความเสี่ยงที่ชัดเจน

 

ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพปรับตัวลดลงในเดือนต.ค. 64 หลังราคาน้ำมันและราคาผลผลิตทางการเกษตรปรับเพิ่มขึ้น

          ครัวเรือนมีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพ โดยดัชนีในเดือนต.ค. 64 และ 3 เดือนข้างหน้าปรับลดลงอยู่ที่ 34.9 และ 36.7 จาก 36.6 และ 38.4 เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของดัชนีพบว่าครัวเรือนมีความกังวลเกี่ยวระดับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งในส่วนของราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบโลก และราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นจากสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงที่ผ่านมาสอดคล้องกับไปทิศทางของเงินเฟ้อในเดือนต.ค.64 ที่เร่งตัวขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 อยู่ที่ 2.38% YoY  เนื่องจากราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น (+22.6%)

 

ค่าครองชีพเดือนต.ค. 64 และอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับลดลงอยู่ที่ 34.9 และ 36.7

หลังสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก เช่น ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมาต่อเนื่องจากภาวะอุปทานตึงตัว หลังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเติบโตแข็งแกร่งหนุนความต้องการใช้น้ำมัน ขณะที่กำลังการผลิตยังไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้ทันตามความต้องการ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้ต้นทุนวัตถุดิบต่าง ๆ ทั้งค่าขนส่งและค่าสินค้าปรับเพิ่มขึ้น นอกจากนี้สถานการณ์น้ำท่วมในช่วงที่ผ่านมายังส่งผลกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูกซึ่งเป็นปัจจัยกดดันให้ราคาผักสดปรับเพิ่มขึ้นเกือบทุกชนิดเมื่อเทียบกับเดือนก่อน เช่น ผักกาดขาว คะน้า และแตงกวา 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการรับมือกับราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าอุปโภคบริโภค โดยครัวเรือนส่วนใหญ่มองว่า 41.0% จะปรับลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ส่วนอีก 39.4% จะใช้สินค้าอุปโภคบริโภคปริมาณน้อยลงต่อครั้งเพื่อให้ใช้นานขึ้น ซึ่งวิธีการรับมือต่าง ๆ บ่งชี้ว่า ในช่วงที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังไม่สามารถกลับมาได้เต็มที่ ราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นจะฉุดรั้งการฟื้นตัวของภาคการบริโภคที่ได้รับผลกระทบจากจากสถานการณ์โควิด-19 อยู่แล้ว

 

นอกจากนี้ยังได้สอบถามเพิ่มเติมถึงผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมล่าสุดที่เกิดขึ้นพบว่ามีผู้ได้รับผลกระทบ 14.2% โดยส่วนมากบ้านเรือนที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหาย ซึ่งส่วนนี้ก็จะยิ่งทำให้ครัวเรือนต้องมีค่าใช้จ่ายเพื่อซ่อมแซมและกดดันกำลังซื้อในสภาวะที่กิจกรรมเศรษฐกิจต่าง ๆ กำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว

ในระยะข้างหน้าภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนยังมีความเปราะบางสูง ทั้งจากความเสี่ยงของการระบาดของโควิด-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอน และราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้นจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น

 

ค่าครองชีพเดือนต.ค. 64 และอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับลดลงอยู่ที่ 34.9 และ 36.7

 

แม้ว่าภาครัฐจะได้เข้ามาดูแล โดยเฉพาะการตรึงราคาน้ำมันดีเซล แต่ในภาพรวมสถานการณ์ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นมีสาเหตุหลักมาจากราคาพลังงานโลกจึงอาจยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะกว่าสถานการณ์จะเริ่มคลี่คลาย

 ขณะที่การทยอยผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มการระบาดและการเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมาจะเข้ามาช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ เริ่มฟื้นตัวขึ้นได้บางส่วน โดยล่าสุดดัชนี Google Mobility Index ในส่วนของร้านค้าปลีกและนันทนาการ (Retail and recreation) เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อยจาก Baseline (+7%) ดังนั้นในช่วงที่กิจกรรมเศรษฐกิจกำลังเริ่มฟื้นตัว มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐโดยเฉพาะในส่วนของการบริโภค เช่น มาตรการด้านภาษีในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปียังมีความจำเป็น ควบคู่ไปกับการเปิดประเทศด้วยมาตรการป้องกันความเสี่ยงที่ชัดเจนและการเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมอย่างต่อเนื่อง

 

          โดยสรุปแล้ว ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ในระดับปัจจุบัน (ต.ค.64) และ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลง โดยครัวเรือนมีความกังวลเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ราคาสินค้าที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นตามราคาพลังงาน ดังนั้นในช่วงที่เหลือของปี 2564 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงการบรรเทาผลกระทบจากเงินเฟ้อที่เร่งตัวยังมีความจำเป็นต่อเนื่อง