เงินเข้าแล้ว “ประกันรายได้ข้าว” โวย ธ.ก.ส. เงินได้ไม่ครบ

09 พ.ย. 2564 | 08:49 น.
อัปเดตล่าสุด :11 พ.ย. 2564 | 00:18 น.
25.8 k

“เงินประกันรายได้ข้าว” เงินโอนแล้ว ทยอยโอนหลังเที่ยงคืน แต่ ชาวนา เฮไม่สุด มึนทั้งบาง กังขา ธ.ก.ส. โอนเงินประกันรายได้ข้าว จ่ายไม่ครบ เตรียมยื่น ร้องเรียน พรึบ

วันที่ 9 พ.ย.2563 ความคืบหน้าการจ่ายเงินโครงการประกันรายได้ข้าว ปีที่3 งวดที่ 1 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จ่ายเงินส่วนต่างให้กับเกษตรกรที่แจ้งวันเก็บเกี่ยวก่อนวันที่ 15 ตุลาคม  ซึ่งมีเกษตรกร ที่กรมส่งเสริมการเกษตร ส่งรายชื่อให้ ธ.ก.ส.  เรียบร้อยแล้ว สำหรับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร วงเงิน 18,000 ล้านบาท บรรยากาศวันนี้ในการจ่าย "ประกันรายได้ข้าว" งวดที่1 บรรยากาศ "ชาวนา" เป็นอย่างไรบ้าง

 

เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในกลุ่มต่างๆ ทั้งแอพลิเคชั่นไลน์ เฟซบุ๊ก โพสต์กันเพียบเลย ว่าการจ่ายเงินโครงการประกันรายได้ข้าว ปีที่3 งวดที่1 ธ.ก.ส. จ่ายไม่ครบ เงินหายไปไหน มีวิธีการคำนวณอย่างไร หลายคนไม่ยอม กรมบัญชีกลาง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ ธ.ก.ส.ต้องมีคำตอบ เพราะเมื่อนำแต่ละคนมาคำนวณที่ขาดหายไม่ใช่น้อย ผลผลิตที่ใช้ในการคำนวณน้อยกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ใช่หรือไม่ แต่มีบางคนที่โอนเงินให้เป็นข้าวผิดชนิด

 

แต่มีเกษตรกรบางคนที่ออกความคิดเห็นได้ไม่ครบ อาจมีหลายประเด็น อาทิ เกณฑ์เฉลี่ยต่อไร่อาจน้อยกว่าที่คาดการณ์ก่อนหน้านี้ และแต่ละชนิดมีการจำกัดการช่วยเหลือจำนวนตันเข้ามาเกี่ยวกันอยู่  วันนี้หลายคนจะเดินทางไป ธ.ก.ส.ใกล้บ้านเพื่อสอบถามในเรื่องดังกล่าวนี้

 

อย่างไรก็ดีเรื่องดังกล่าวนี้เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2563 ช่วงนั้นมีปัญหาระบบโค๊ดที่กรมส่งเสริมการเกษตร ส่งให้ ทำให้ ธ.ก.ส. คิดว่าเป็นโค๊ดเดิมจึงทำให้มีการจ่ายข้าวผิดชนิด สลับกันไปมาวุ่นวาย ซึ่งจะซ้ำรอยเดิมหรือไม่ ต้องติดตาม!

 

 

ขณะที่ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ประกาศฯ หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการการดำเนินการโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 รอบที่ 1

 

  • ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ ดังนี้

 

  • ข้าวเปลือกหอมมะลิ 359 กก./ไร่
  • ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ 432 กก./ไร่
  • ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี 682 กก./ไร่
  • ข้าวเปลือกเจ้า 602 กก./ไร่
  • ข้าวเปลือกเหนียว 387 กก./ไร่

 

โดยใช้พื้นที่ทั้งหมดที่ขึ้นทะเบียนปลูกข้าวแต่ละชนิด คูณผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เป็นปริมาณผลผลิตที่ต้องชดเชย แต่ต้องไม่เกินปริมาณผลผลิตที่กำหนด

 

หากเกษตรกรเพาะปลูกข้าวมากกว่า 1 ชนิด ใช้สิทธิได้ไม่เกินจำนวนขั้นสูงของข้าวแต่ละชนิด และเมื่อรวมกันต้องไม่เกินขั้นสูงของชนิดข้าวที่กำหนดสูงสุด