ปตท.สผ.เข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณไม่ได้-เร่งลงทุนบงกช/อาทิตย์ชดเชยก๊าซฯ

08 พ.ย. 2564 | 19:20 น.
อัปเดตล่าสุด :09 พ.ย. 2564 | 02:19 น.

ปตท.สผ.รับยังเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณไม่ได้ เตรียมเร่งลงทุนแหล่งบงกชและแหล่งอาทิตย์เพิ่มกำลังผลิตก๊าซชดเชยที่หาย ตั้งเป้าปริมาณการขายปิโตรเลียมในปี 65 โตขึ้น 6-7%

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยถึงความคืบหน้าาการเข้าพื้นที่ในแหล่งเอราวัณว่า ขณะนี้ ปตท.สผ. ยังคงไม่สามารถเข้าพื้นที่เพื่อติดตั้งแท่นผลิตและท่อใต้ทะเลได้ตามแผน แม้บริษัทจะยอมรับเงื่อนไขการเข้าพื้นที่ของเชฟรอนฯ ในฐานะผู้รับสัมปทานปัจจุบันแล้วก็ตาม 
ทั้งนี้ ทำให้มีผลกระทบต่อการผลิตก๊าซธรรมชาติตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ที่กำหนดผลิตก๊าซฯ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลง อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ประสานงานกับผู้ซื้อและหน่วยงานรัฐอย่างต่อเนื่องเพื่อวางแผนให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด และจะพยายามเร่งการลงทุนในแหล่งบงกชและแหล่งอาทิตย์เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซฯ มาชดเชยปริมาณการผลิตที่หายไปบางส่วน  

อย่างไรก็ดี คาดว่าปีหน้าจะเพิ่มปริมาณการผลิตก๊าซฯ จากแหล่งอาทิตย์ได้อีก 60 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันจากปัจจุบันผลิตอยู่ 220 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยตั้งเป้าหมายจะเพิ่มกำลังผลิตเป็น 330 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันใน 2-3 ปีข้างหน้า และแหล่งบงกชจะผลิตขึ้นเป็น 820-850 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน สูงกว่าสัญญา PSC ที่กำหนดว่าต้องผลิต 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน 

มนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  ปตท.สผ.
นายมนตรี กล่าวต่อไปอีกว่า ในปี 2565 บริษัทตั้งเป้าว่าปริมาณการขายปิโตรเลียมจะเติบโตขึ้น 6-7% จากปีนี้บริษัทได้ปรับเพิ่มเป้าหมายการขายปิโตรเลียมเป็น 4.17 แสนบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เนื่องจากรับรู้การขายเต็มปีจากโครงการโอมาน แปลง 61 และโครงการมาเลเซีย แปลงเอช รวมทั้งรับรู้การขายเพิ่มขึ้นจากแหล่งเอราวัณ (G1/61) และแหล่งบงกช (G2/61) เพิ่มเข้ามา ตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) และโครงการในแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ราเคซด้วย

นอกจากนี้ บริษัทมีโครงการที่อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อร่วมทุนหรือซื้อกิจการ (M&A) คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในต้นปีหน้า ทำให้บริษัทรู้รายได้ทันที
ส่วนทิศทางราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงในช่วงนี้ ทำให้ราคาขายก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยในปี 2565 ปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 5.7-6 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู และราคาน้ำมันดิบจะอยู่ที่ 70-80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับราคาที่โอเปกพลัสต้องการหลังมีประสบการณ์สงครามราคาน้ำมันเมื่อปีที่แล้ว โดย  ปตท.สผ.ตั้งเป้ารักษาระดับต้นทุนการผลิตต่อหน่วยอยู่ที่ประมาณ 28-29 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ
นายมนตรี กล่าวอีกว่า จากสถานการณ์ความท้าทายในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน ปตท.สผ.วางแนวทางการดำเนินธุรกิจ โดยเน้น 3 เรื่องหลัก ดังนี้  1. สร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมซึ่งเป็นธุรกิจหลัก เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน เน้นการลงทุนในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่ ปตท.สผ.มีความชำนาญ ได้แก่ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตะวันออกกลาง โดยจะเพิ่มสัดส่วนก๊าซธรรมชาติเป็น 80% และน้ำมัน 20% ควบคู่ไปกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านเทคโนโลยีการดักจับ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Storage หรือ CCS)
2. ลงทุนในธุรกิจใหม่ (Beyond E&P) 3 ด้าน คือ ธุรกิจด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ โดยลงทุนผ่านบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือเออาร์วี (ARV) เน้นการลงทุนใน 4 ธุรกิจ คือ Rovula สำรวจ และซ่อมแซมอุปกรณ์ใต้ทะเล, Varuna สำรวจและประมวลผลด้วยปัญญาประดิษฐ์สำหรับเกษตรอัจฉริยะ, Skyller ตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐานในอุตสาหกรรมต่างๆผ่านแพลตฟอร์ม เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์, Cariva เครือข่ายด้านสุขภาพพัฒนาเทคโนโลยี IoT โดยจะหาพาร์ตเนอร์เพื่อผลักดันให้เป็น Startup
ส่วนธุรกิจไฟฟ้าที่ต่อยอดจากก๊าซธรรมชาติ เช่น โครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ (Gas to Power) ในเมียนมา และพลังงานหมุนเวียน จะมองหาโอกาสการลงทุนกับพันธมิตรที่มีศักยภาพ
3. ลงทุนในธุรกิจที่รองรับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน ซึ่งมุ่งสู่พลังงานสะอาด และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมองโอกาสการลงทุนด้านเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Utilization and Storage หรือ CCUS) พลังงานรูปแบบใหม่ในอนาคต (Future Energy) เช่น พลังงานไฮโดรเจน โดยตั้งเป้าหมายว่าบริษัทมีกำไรจากธุรกิจใหม่มีสัดส่วน 20% ในปี 2573