ร้องเรียนหนี้นอกระบบ ดอกเบี้ยโหด แจ้งความได้ไหม ที่ไหนบ้าง เช็คได้ที่นี่

03 พ.ย. 2564 | 15:12 น.
อัปเดตล่าสุด :03 พ.ย. 2564 | 22:23 น.
49.7 k

ตรวจสอบช่องทาง รับแจ้งความการเงินนอกระบบ หรือ ร้องเรียนเงินกู้และหนี้นอกระบบ ดอกเบี้ยโหด มีที่ไหนบ้าง เช็คได้ที่นี่

ฐานเศรษฐกิจ เกาะติดปัญหาสินเชื่อ-เงินกู้-หนี้นอกระบบ ดอกเบี้ยโหด ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่มีนโยบายในการแก้ไขปัญหา ซึ่งมีการสอบถามเข้ามาว่าสามารถร้องเรียนหรือแจ้งความเอาผิด ได้ไหมและมีที่ไหนบ้าง 

ข้อมูลจาก สำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน กระทรวงการคลัง ระบุว่า ได้ร่วมกับหน่วยงานภาคี แก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย ซึ่งนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 จนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2564 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการจับกุมผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบที่กระทำผิดกฎหมายจำนวนสะสม 10,094 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2564 จำนวน 97 ราย 

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารและรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ที่เปิดดำเนินการได้ทางเว็บไซต์ www.1359.go.th และสามารถร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับเงินกู้นอกระบบที่ผิดกฎหมายได้โดยตรงที่

  • สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สายด่วน 1599
  • ศูนย์ดำรงธรรม สายด่วน 1567
  • ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สายด่วน 1359
  • ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม (ศนธ.ยธ.) โทร. 0 2575 3344

นอกจากนี้ ข้อมูลล่าสุด จากกระทรวงการคลัง ยังได้รายงานความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบประจำเดือนกันยายน 2564 ณ สิ้นเดือน ส.ค.2564 มีผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ให้ความร่วมมือกับ สศค. ร่วมมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้กับลูกหนี้ จำนวนทั้งสิ้น 329 ราย ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้จำนวน 12,315 บัญชี

นางสาวสภัทร์พร ธรรมาภรณ์พิลาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2564 มีผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ให้ความร่วมมือกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้กับลูกหนี้ ประกอบด้วย 

  • การลดค่างวด 
  • การขยายระยะเวลาการชำระหนี้ 
  • การเปลี่ยนประเภทหนี้จากระยะสั้นเป็นระยะยาว 
  • การพักชำระค่างวด 
  • การพักชำระเงินต้นและจ่ายดอกเบี้ยบางส่วน 
  • การพักชำระเงินต้นและลดอัตราดอกเบี้ย 

จำนวนทั้งสิ้น 329 ราย ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้จำนวน 12,315 บัญชี 

โดยจังหวัดที่ผู้ประกอบธุรกิจให้ความช่วยเหลือลูกหนี้สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 

  1. นครราชสีมา (2,498 บัญชี) 
  2. กรุงเทพมหานคร (1,244 บัญชี) 
  3. ขอนแก่น (867 บัญชี) 

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564 สศค. ได้ออกประกาศ สศค. เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ให้สอดคล้องกับการปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ย อัตรากำไรจากการให้สินเชื่อ ดอกเบี้ยผิดนัดชำระ ค่าปรับ ค่าบริการ หรือค่าธรรมเนียมอื่นใดสำหรับการประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์แบบมีหลักประกันจาก “ร้อยละ 36 ต่อปี แบบลดต้นลดดอก (Effective Rate)” เป็น “ร้อยละ 33 ต่อปี แบบลดต้นลดดอก (Effective Rate)” 

ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 (เรื่อง สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ) (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2564 และการกำหนดแนวทางการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระสำหรับการประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ให้สอดคล้องกับพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป

สำหรับภาพรวมการประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 มีจำนวนผู้ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์และเปิดดำเนินการแล้วสะสมสุทธิ 1,012 ราย ใน 75 จังหวัด ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบธุรกิจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (591 ราย) รองลงมา ได้แก่ ภาคกลาง (172 ราย) ภาคเหนือ (131 ราย) ภาคตะวันออก (66 ราย) และภาคใต้ (52 ราย) ตามลำดับ ทั้งนี้ นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 ที่กระทรวงการคลังได้เปิดให้มีการประกอบธุรกิจสินเชื่อ

พิโกไฟแนนซ์จนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2564 ได้มีการอนุมัติสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ให้กับประชาชนรายย่อยไปแล้วจำนวนทั้งสิ้น 1,044,352 บัญชี รวมเป็นวงเงิน 15,358.52 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 14,706.27 บาทต่อบัญชี ซึ่งมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

  1. สินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์  ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 มีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์สะสมสุทธิทั้งสิ้น 888 ราย ใน 74 จังหวัด และมีจำนวนผู้เปิดดำเนินการแล้ว 863 ราย ใน 74 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีผู้เปิดดำเนินการมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา (79 ราย) กรุงเทพมหานคร (70 ราย) และขอนแก่น (51 ราย)
  2. สินเชื่อประเภทพิโกพลัส  ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 มีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกพลัสสะสมสุทธิทั้งสิ้น 163 ราย ใน 50 จังหวัด และมีจำนวนผู้เปิดดำเนินการแล้ว 149 ราย ใน 46 จังหวัด (เพิ่มขึ้น 1 จังหวัด ได้แก่ สกลนคร) โดยจังหวัดที่มีผู้เปิดดำเนินการมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา (25 ราย) อุดรธานี (10 ราย) อุบลราชธานีและกรุงเทพมหานคร (จังหวัดละ 8 ราย)
  3. ภาพรวมสถานะสินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2564 มียอดสินเชื่อคงค้างจำนวนทั้งสิ้น 211,249 บัญชี คิดเป็นจำนวนเงิน 4,409.39 ล้านบาท โดยมีสินเชื่อค้างชำระ 1 - 3 เดือน สะสมรวมทั้งสิ้น 29,675 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงินสะสมรวม 638.26 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14.48 ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม และมีสินเชื่อค้างชำระที่เกินกว่า 3 เดือน (NPL) สะสมรวมจำนวน 30,365 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงินสะสมรวม 796.89 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18.07 ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม

ที่มา : ทำเนียบรัฐบาล