เปิดประเทศคึกคัก ขนส่งสาธารณะ ให้บริการ เต็มพิกัด บีทีเอสคาดคนใช้เฉียดล้าน

03 พ.ย. 2564 | 10:36 น.
อัปเดตล่าสุด :03 พ.ย. 2564 | 17:47 น.

“บีทีเอส” เตรียมให้บริการนักท่องเที่ยวเข้าไทย หลังเปิดประเทศ คาดผู้โดยสารกลับมาเท่าเดิม ราว 8-9 แสนรายต่อวัน ด้านเจ้าพัฒนาท่าเรือปากเมง หนุนเศรษฐกิจท่องเที่ยวอันดามัน ฟากกพท.พบผู้โดยสารต่างชาติ จองตั๋วล่วงหน้า21,316 คน

ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะกลับมาให้บริการเป็นปกติ นับตั้งแต่วันที่1พฤศจิกายนตามนโยบายเปิดประเทศ ของรัฐบาล คาดว่า การเดินทางจะเริ่มคึกคักขึ้นทั้งบก-ราง-น้ำ-อากาศ

 

 

 นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส เปิดเผยว่า สำหรับการเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ถือเป็นโอกาสที่ดีของประเทศที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยวถือเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆของประเทศทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ ในส่วนของรถไฟฟ้าบีทีเอสยังคงมาตรการการดูแลและป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 เบื้องต้น บริษัทได้มีการเพิ่มความถี่ในการเดินรถรถไฟฟ้าบีทีเอส โดยนำขบวนรถออกให้บริการรวม 98 ขบวน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้โดยสาร ลดความแออัดเพิ่มความถี่ในการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อทั้งในขบวนรถ จุดให้บริการสถานีต่างๆ และจุดสัมผัสต่างๆ ขณะที่ผู้โดยสารต้องสวมหน้ากากอนามัยด้วย รองรับนโยบายการเปิดประเทศของภาครัฐ

 

 

“หลังจากภาครัฐคลายล็อกดาวน์ พบว่าปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสเริ่มดีขึ้น หากมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวและการเปิดสถานศึกษาก คาดว่าปริมาณผู้โดยสารจะกลับมาเท่าเดิมหรือใกล้เคียงในช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ปัจจุบันมีผู้โดยสารใช้บริการราว 300,000 คนต่อวัน จากเดิมที่มีผู้โดยสารใช้บริการราว 800,000-900,000 คนต่อวัน”

 

 

 นอกจากนี้บริษัทฯ ได้ปรับให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีทอง และรถด่วนพิเศษ (บีอาร์ที) ตามปกติทุกสถานี ตามมติคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ปรับระดับพื้นที่ควบคุมและเข้มงวดสูงสุด (สีแดงเข้ม) จาก 23 จังหวัด เหลือ 7 จังหวัด

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่าได้ปรับเวลาให้บริการตามปกติโดยรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) เปิดให้บริการเวลา 06.00- 24.00 น. และรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) เปิดให้บริการวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 05.30 - 24.00 น. และวันเสาร์ – อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 06.00 – 24.00 น. ส่วนอาคารและลานจอดแล้วจรของ รฟม. จะเปิดให้บริการเวลาตามปกติทุกแห่ง คือ 05.00 – 01.00 น.

 

 

รายงานข่าวจากกรมเจ้าท่า (เจ้าท่า) กล่าวว่า เร่งรัดการเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าจากภาคตะวันออกสู่ภาคใต้ เพื่อลดปริมาณรถบรรทุกจากภาคใต้เข้าสู่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล เนื่องจากโควิด - 19 ทำให้ล่าช้ากว่าแผน และพัฒนาท่าเรือให้เป็นยอร์ชคลับ รองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมาย สร้างรายได้ให้การท่องเที่ยวในพื้นที่ รวมทั้งการพัฒนาท่าเรือให้เป็นระบบท่าเรืออัตโนมัติ เชื่อมต่อระบบขนส่งอื่น อำนวยความสะดวกให้กับประชาชน

 

 

 ส่วนการพัฒนาท่าเรือปากเมง จังหวัดตรัง ได้เร่งรัดให้เสร็จสมบูรณ์โดยเร็ว เพื่อเปิดใช้งานท่าเรือส่งเสริมการท่องเที่ยวฝั่งอันดามัน กระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวหลังโควิด - 19 สร้างรายได้ให้กับท้องถิ่น เนื่องจากท่าเรือดังกล่าวเป็นท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยวและคมนาคมทางน้ำที่สำคัญในจังหวัดตรัง เรือส่วนใหญ่เป็นเรือรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางจากหาดปากเมงไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆในหมู่เกาะทะเลตรัง อาทิ เกาะมุก เกาะรอก เกาะเชือก เกาะไหง เกาะกระดาน และเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ทั้งยังสามารถเชื่อมต่อไปยังเกาะลันตา เกาะพีพี หาดอ่าวนาง จังหวัดกระบี่ คาดว่าในปี นี้ หลังปรับปรุงท่าเรือฯ แล้วเสร็จ จะมีจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นถึง 90,000 คนต่อปี

ขณะกรมทางหลวง (ทล.) ออกประกาศยกเลิกจำกัดเวลาให้บริการบริเวณโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สาย (M7) และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สาย (M9) ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.นี้ เป็นต้นไป เพื่อรองรับการเปิดประเทศของภาครัฐ

 

 

ส่วนองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (ขสมก.) จัดรถออกวิ่งตามปกติ วันละ 2,886 คัน จำนวน 20,000 เที่ยวจัดเดินรถบริการตลอดคืน (รถกะสว่าง) 23 เส้นทาง เริ่มให้บริการ ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2564 รวมทั้งจัดเดินรถเชื่อมต่อท่าอากาศยาน จำนวน 6 เส้นทาง รวม 60 คัน ประกอบด้วย สาย A 1 ท่าอากาศยานดอนเมือง – สถานีรถไฟฟ้า BTS จตุจักร วันละ 16 คัน ,สาย A 2 ท่าอากาศยานดอนเมือง – อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ วันละ 12 คัน ,สาย A 3 ท่าอากาศยานดอนเมือง – สวนลุมพินี วันละ 8 คัน ,สาย A 4 ท่าอากาศยานดอนเมือง – สนามหลวง วันละ 8 คัน ,สาย S 1 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ – สนามหลวง วันละ 6 คัน ,สาย 555 รังสิต – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วันละ 10 คัน

 

 

 ขณะที่ด้านจัดพนักงานประจำรถ เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันติดเชื้อโควิด 9,000 คน คิดเป็น 98% ของพนักงานประจำรถทั้งหมด รวมทั้งมีการฝึกทักษะภาษาอังกฤษให้กับพนักงานประจำรถทุกคน โดยเน้นพนักงานประจำรถโดยสาร เชื่อมต่อท่าอากาศยาน ได้แก่ สาย A1, A2, A3, A4, S1 และสาย 555 เป็นกรณีพิเศษ

 

 

 เช่นเดียวกับ เที่ยวบินเข้าประเทศไทย จากการรายงานของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) วันที่ 1-5 พ.ย.2564 ซึ่งเป็นข้อมูลจองบัตรโดยสาร ณ วันที่ 29 ต.ค.2564 มีผู้โดยสารต่างชาติ 21,316 คน แบ่งเป็นการเดินทางเข้า 15,037 คน และเดินทางออก 6,279 คน โดยแบ่งปริมาณเป็นการเดินทางเข้าและออกตามวันดังนี้ วันที่ 1 พ.ย. จำนวน 5,745 คน, วันที่ 2 พ.ย. จำนวน 5,331 คน, วันที่ 3 พ.ย. จำนวน 3,893 คน, วันที่ 4 พ.ย. จำนวน 5,154 คน และ วันที่ 5 พ.ย. จำนวน 5,137 คน