วิธีคิดเงินประกันรายได้ข้าว 64/65 ได้เงินส่วนต่างเท่าไหร่คำนวณแบบนี้

08 พ.ย. 2564 | 16:45 น.
อัปเดตล่าสุด :09 พ.ย. 2564 | 15:29 น.
123.1 k

วิธีคำนวณเงินประกันรายได้ข้าวปี 2564/65 แบบเข้าใจง่ายๆ โดยใช้ ราคาประกันลบราคากลางตามประกาศ เพื่อหาราคาชดเชย จากนั้นนำไปคูณด้วยผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ กับจำนวนไร่ที่ลงทะเบียนเพาะปลูกไว้ ก็จะทันทีว่าตัวเองได้รับจากรัฐบาลจำนวนเท่าไหร่

โครงการประกันรายได้ข้าว ปีการผลิต 2564/65 คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงและชดเชยส่วนต่างเงินประกันรายได้ข้าวแต่ละชนิด งวดที่ 1 สำหรับเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวก่อนวันที่ 15 ตุลาคม 2564 ออกมาเป็นที่เรียบร้อย

อย่างไรก็ตามยังมีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวหลายคนสงสัยว่าหลายคนเงินส่วนต่างชดเชยราคาข้าวที่ตนเองจะได้รับจากรัฐบาลจะเป็นจำนวนเท่าไหร่ ฐานเศรษฐกิจ จึงนำวิธีคิดเงินส่วนต่างราคาประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2564/65 มาอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ด้วยการนำข้อมูล 4 ตัวมาคำนวณ ดังนี้

1. ราคาประกันรายได้ข้าว2564/65

  • ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคา 15,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน
  • ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่  ราคา 14,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16ตัน
  • ข้าวเปลือกเจ้า ราคา 10,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน
  • ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคา 11,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน  
  • ข้าวเปลือกเหนียว  ราคา 12,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

2. ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่

  • ข้าวเปลือกหอมมะลิ ผลผลิตเฉลี่ย 359 กิโลกรัม/ไร่
  • ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่  465 กิโลกรัม/ไร่
  • ข้าวเปลือกเจ้า 613 กิโลกรัม/ไร่
  • ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี 685 กิโลกรัม/ไร่
  • ข้าวเปลือกเหนียว 393 กิโลกรัม/ไร่

ราคาประกันรายได้ข้าว-ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่

3. ราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงและชดเชยส่วนต่างข้าว เช่น งวดที่ 1

  • ข้าวเปลือกหอมมะลิ 10,864.23 บาท/ตัน ราคาชดเชยตันละ 4,135.77 บาท/ตัน 
  • ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ 10,407.75 บาท/ตัน ราคาชดเชยตันละ 3,595.25 บาท/ตัน  
  • ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี 9,947.87 บาท/ตัน ราคาชดเชยตันละ 1,052.13 บาท/ตัน 
  • ข้าวเปลือกเจ้า 8,065.38 บาท/ตัน ราคาชดเชยตันละ 1,934.62 บาท/ตัน 
  • ข้าวเปลือกเหนียว 7,662.53 บาท/ตัน ราคาชดเชยตันละ 4,337.47 บาท/ตัน

วิธีคำนวณเงินส่วนต่างราคาประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2564/65 

  • ราคารัฐบาลรับประกัน ลบ กับราคากลางตามประกาศ เช่น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกัน (15,000 - 10,864.23 = 4,135.77 บาท)
  • นำราคาเงินชดเชยไปคูณกับผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ (4,135.77 x 359 = 1,484.74 บาทต่อไร่)
  • ลงทะเบียนกี่ไร่ ให้นำไปคูณ สมมุติลงไว้ 10 ไร่ = (1,484.74  x 10) เกษตรกรจะได้รับเงินชดเชยส่วนต่างในงวดที่ 1 รวม 14,847.40 บาท

หมายเหตุ: 

การคิดคำนวณราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงส่วนต่างเงินประกันข้าวปี 2564/65 นั้นจะใช้หลักเกษณฑ์เดียวกับการดำเนินโครงการในปีที่ 1 และปีที่ 2 กล่าวคือ จะใช้จาก 3 แหล่งมาราคารายวันย้อนหลัง 7 วัน จาก3 แหล่งมาเฉลี่ย เพื่อให้ได้ราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงที่เป็นปัจจุบัน ดังนี้

  •  ราคาข้าวเปลือกที่กรมการค้าภายในสืบ 
  • ราคาข้าวเปลือกจากสมาคมโรงสี 
  • ราคาข้าวเปลือกที่คำนวณจากราคาข้าวสาร 

โครงการประกันรายได้ได้กำหนดราคาประกันที่ความชื้นที่ 15% หากความสูงขึ้นก็จะมีการหักความชื้นตามน้ำหนักไป เพื่อนำไปคำนวณราคาใกล้เคียง

อัพเดท: นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้เห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว เพื่อสร้างความแน่นอนในเรื่องรายได้ ดูแลเกษตรกรผู้ปลูกข้าวครอบคลุมกว่า 4.68 ล้านครัวเรือน

โดยประกันรายได้ให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2564/65 (รอบที่1) ซึ่งทาง ธ.ก.ส. จะดำเนินการจ่ายเงินส่วนต่างงวดแรก ในวันที่ 9 พ.ย. นี้ ซึ่งเงินส่วนต่างที่จะโอนเข้าบัญชีเกษตรกรในงวดแรกนี้ โดยข้าวทุกชนิด ณ ความชื้น 15% จำนวนตันตามเกณฑ์ที่กำหนด แบ่งเป็น 

ข้าวเปลือกหอมมะลิ 4,135.77 บาท/ตัน
ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ 3,592.25 บาท/ตัน
ข้าวหอมปทุมธานี 1,052.14 บาท/ตัน
ข้าวเจ้า 1,934.62 บาท/ตัน
ข้าวเหนียว 4337.47 บาท/ตัน


การจ่ายเงินส่วนต่างในโครงการประกันรายได้ในปีที่ 3 ยังคงหลักการเช่นเดิม โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะโอนเงินเข้าไปยังบัญชีของเกษตรกรภายใน 3 วันทำการหลังจากที่ได้มีการประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงเช่นเดียวกับปี 1 และปี 2 โดยการโอนเงินส่วนต่างงวดที่ 2 , 3 และ 4 น่าจะโอนได้ในวันที่ 10 พ.ย.2564

การจ่ายเงินประกันรายได้ข้าว เกษตรกรที่สมัครใช้บริการ BAAC Connect จะได้รับข้อความแจ้งเตือนผ่าน LINE Official BAAC Family เมื่อเงินเข้าบัญชีเรียบร้อยแล้ว หรือสามารถ เช็คเงินเกษตรกร ตรวจสอบเช็คเงินช่วยเหลือชาวนา ผ่านเว็บไซต์์ https://chongkho.inbaac.com/