กองทุนน้ำมันฯกระเป๋าฉีกเล็งกู้เงิน 2 หมื่นล.ตรึงดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร

02 พ.ย. 2564 | 12:39 น.
อัปเดตล่าสุด :02 พ.ย. 2564 | 20:08 น.
4.5 k

มติ กบน. เคาะกู้เงิน 2 หมื่นล้านบาทเตรียมเสริมสภาพคล่องเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตรึงราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาท ลดผลกระทบประชาชน พร้อมปฏิเสธไม่เคยนำส่งเงินเข้ารัฐกว่า 2 หมื่นล้านบาท

นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) มีมติเห็นชอบเนื้อหาและสาระสำคัญร่างหลักเกณฑ์การกู้ยืมเงินตามที่สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงนำเสนอ เพื่อเตรียมพร้อมสภาพคล่องในการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร 

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวเพื่อเป็นการลดผลกระทบต่อค่าครองชีพประชาชนในช่วงที่สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงมีแนวโน้มผันผวนต่อเนื่อง ตามความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งได้มอบหมายให้สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปจัดทำหลักเกณฑ์การกู้เงินตามกรอบของ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยหลังจากนี้จะมีการนำเสนอร่างหลักเกณฑ์การกู้เงินดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป

สมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน

สำหรับกรณีที่มีกระแสข่าวว่าที่ผ่านมาได้มีการโอนเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ไปเป็นรายได้ให้กับรัฐบาลกว่า 20,000 ล้านบาทนั้น จากการตรวจสอบกับสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พบว่าเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ตั้งแต่ตั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมายังไม่เคยนำเงินกองทุนฯ เข้านำส่งเป็นรายได้กระทรวงการคลัง โดยยืนยันว่าการบริหารเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องเป็นไปตามกฎหมายและวัตถุประสงค์ของกองทุนฯอย่างเคร่งครัด 
อย่างไรก็ดี มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจน ให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในกรณีที่เกิดวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งการดำเนินงานให้อยู่ภายใต้กรอบนโยบายการบริหารกองทุนฯ ตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติกำหนดเท่านั้น
“การเตรียมกู้เงินในครั้งนี้ ก็เพื่อตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่ให้เกิน 30 บาทเนื่องจากน้ำมันดีเซล เป็นพื้นฐานของการดำเนินธุรกิจหากปล่อยให้มีราคาสูงเกินไปจะกระทบต่อผู้ประกอบการ ค่าขนส่ง ค่าสินค้าและบริการต่างๆ ซึ่งกระทรวงพลังงานจะควบคุมการใช้เงินกู้อย่างเข้มงวด และเป็นไปตามข้อกฎหมาย โดยระเบียบกองทุนฯสามารถกู้ยืมได้ไม่เกิน 20,000 ล้านบาท"  

อย่างไรก็ตาม จากกาารติดตามข้อมูลของ "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่า ก่อนหน้านี้ที่ผ่านมากระทรวงพลังงาน โดย กบง. มีความพยายามในการออกมาตรการเพื่อพยุงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท ประกอบด้วย
กบง. มีมติเห็นชอบให้ปรับลดสัดส่วนไบโอดีเซลน้ำมันดีเซลหมุนเร็วให้มีสัดส่วน จากบี 10 ,บี 7 เหลือสัดส่วนเดียว คือ บี 6 เป็นระยะเวลาสั้นตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2564 ถึง 31 ตุลาคม 2564 เพื่อที่จะลดน้ำมันฐานให้การผสมเหลือ 6%  เพื่อให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาช่วยเหลือน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร
นอกจากนี้ ยังเห็นชอบให้ดำเนินการลดการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ จากปัจจุบันที่เก็บจากบี 7 จำนวน 1 บาท เพื่อเข้ากองทุนน้ำมันฯ เหลือ 1 สตางค์ รวมถึงลดค่าการตลาดของน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดาจากเดิมมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1.80 บาท หรือ 1.40 บาท หรือลดลง 40 สตางค์
ล่าสุด กบง. มีมติปรับสูตรน้ำมันดีเซลกลับมาเป็นแบบเดิมเหลือ 3 ชนิด ได้แก่  บี 7 ,บี 10 และ บี 20 ซึ่งกำหนดให้ส่วนต่างราคาขายปลีกระหว่างน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 กับบี 10 อยู่ที่ 0.15 บาทต่อลิตร และส่วนต่างราคาขายปลีกระหว่างน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 กับบี20 อยู่ที่ 0.25 บาทต่อลิตร โดยยังคงค่าการตลาดกลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร และยกเลิกดีเซลบี6 ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 64 เป็นต้นไป