“กรมปศุสัตว์” ดันกัญชง-กัญชา-กระท่อม บุกธุรกิจอาหารสัตว์

31 ต.ค. 2564 | 20:20 น.
อัปเดตล่าสุด :01 พ.ย. 2564 | 03:28 น.
641

“กรมปศุสัตว์” ขยายกัญชง-กัญชา-กระท่อม สู่ธุรกิจอาหารสัตว์ ดันเป็น First Mover เพื่อส่งออก หวังชิงตลาดอาหารสัตว์โลก

นายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์  เปิดเผยว่า ตามที่กระแสกัญชา กัญชง และกระท่อมกำลังมาแรง ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรของไทยมายาวนาน มีผู้สนใจและมีงานวิจัยทยอยออกมามากมาย ล่าสุดได้มีการปลดล็อกส่วนของพืชกัญชา กัญชง และกระท่อม ออกจากรายชื่อยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เพื่อให้ประชาชนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทางการค้า การแพทย์ และการศึกษาวิจัย กรมปศุสัตว์เล็งเห็นความสำคัญของการนำไปใช้อย่างถูกกฎหมาย จึงได้เตรียมออกประกาศเกี่ยวกับอาหารสัตว์เพื่อรองรับผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของพืชกัญชา กัญชงและกระท่อม โดยร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน สถานศึกษา รวมถึงสถาบันวิจัยต่างๆ ในการศึกษา วิจัยและพัฒนา เพื่อกำหนดค่ามาตรฐานที่ยอมรับให้ใช้ได้ในอาหารสัตว์ 

 

“กรมปศุสัตว์” ดันกัญชง-กัญชา-กระท่อม บุกธุรกิจอาหารสัตว์


ทั้งนี้จากงานวิจัยพบว่ากัญชงเป็นพืชที่มีโปรตีนสูงมากและของเหลือจากการเก็บเกี่ยวหรือการนำมาแปรรูป สามารถนำมาเพิ่มมูลค่าในการผลิตเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ได้ โดยเฉพาะส่วนของกากเมล็ดกัญชงหลังจากที่บีบสกัดน้ำมันออกไปแล้ว มีคุณค่าใกล้เคียงเทียบเท่ากากถั่วชนิดต่างๆ ที่เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยกากสกัดเมล็ดกัญชงมีโปรตีนรวม 29.15% ให้พลังงาน 4,785.24 แคลอรีต่อกรัม มีกรดไขมันที่โดดเด่นอย่างโอเมก้า 3 และ 6 ปริมาณ 8.25 กรัมต่อกากเมล็ดกัญชง 100 กรัม รวมถึงกรดอะมิโนอีก 17 ชนิด ที่โดดเด่นคือ Glutamic acid, Leucine, Lysine และ Methionine
“กรมปศุสัตว์” ดันกัญชง-กัญชา-กระท่อม บุกธุรกิจอาหารสัตว์

นายสรวิศ  กล่าวต่อว่า  ปัจจุบันยังเป็นเรื่องใหม่ที่น่าสนใจในการนําส่วนประกอบของกัญชา กัญชงและกระท่อมมาใช้เป็นอาหารสัตว์ในสัตว์ปศุสัตว์ที่เป็นสัตว์เลี้ยงในฟาร์ม เช่น สุกร ไก่ และโค โดยเลี้ยงสัตว์ที่ให้ผลผลิตสัตว์เพื่อใช้บริโภค เช่น เนื้อ นม และไข่ เป็นต้น จะต้องคํานึงถึงประโยชน์ในด้านคุณค่าทางโภชนาการของอาหารสัตว์ที่จะนําไปใช้ ความปลอดภัยต่อสุขภาพสัตว์รวมถึงประเด็นของสารตกค้างที่อาจเกิดขึ้นที่จะส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคและข้อคํานึงของประเทศคู่ค้าในฐานะผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์ด้วย ซึ่งในกรณีของอาหารสัตว์เลี้ยง ปัจจุบันตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงมีการเติบโตค่อนข้างสูงทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 มีมูลค่าการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงมากกว่า 5 หมื่นล้านบาท และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีการเติบโตสูงถึงร้อยละ 7-10 ต่อปี หากผลการทดลองหรือวิจัยเกี่ยวกับการนำกัญชา กัญชงและกระท่อม มาเป็นส่วนประกอบในการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง มีความปลอดภัยและมีสรรพคุณส่งเสริมสุขภาพของสัตว์เลี้ยง กรมปศุสัตว์จะส่งเสริม สนับสนุนภาคเอกชนให้มีการผลิตและส่งออกทุกรูปแบบ เพื่อให้ธุรกิจด้านอาหารสัตว์เลี้ยงเติบโตและเป็นผู้นำในตลาดโลกอย่างยั่งยืน 

“กรมปศุสัตว์” ดันกัญชง-กัญชา-กระท่อม บุกธุรกิจอาหารสัตว์

“นับเป็นโอกาสและแนวโน้มที่ดีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพื่อตอบรับนโยบายการเปิดประเทศของรัฐบาล ซึ่งถ้ามีข้อมูลพิสูจน์และหลักฐานสนับสนุนที่ชัดเจนจะสามารถต่อยอดให้ด้านเศรษฐกิจ ในการส่งออกอาหารสัตว์ที่ผสมและผลิตจากสมุนไพรไทย เพิ่มศักยภาพและความแตกต่างในการเข้าแข่งขันสู่ตลาดอาหารสัตว์โลกรายแรก (First Mover) สร้างอัตลักษณ์ของประเทศ สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ได้ เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ให้เกษตรกรต่อไปในอนาคต”

 

 

“กรมปศุสัตว์” ดันกัญชง-กัญชา-กระท่อม บุกธุรกิจอาหารสัตว์


อย่างไรก็ตามการนำส่วนประกอบของกัญชา กัญชงและกระท่อม มาผลิตเป็นอาหารสัตว์ มีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ ได้แก่ (1) พระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ.2558 (2) พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 (3) พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 และ (4) พระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 รวมทั้งประเด็นการขึ้นทะเบียนของผลิตภัณฑ์ในอาหารสัตว์มีข้อพิจารณาที่มีความเฉพาะ ทั้งในด้านประโยชน์ คุณค่าทางโภชนาการของอาหารสัตว์ประเภทต่างๆ รวมถึงข้อคำนึงด้านความปลอดภัยต่อสัตว์และผู้บริโภคที่บริโภคผลิตภัณฑ์สัตว์ ซึ่งต้องมีข้อมูลทางวิชาการและงานวิจัยที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์มาสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชา กัญชงและกระท่อม จึงเห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลกัญชา กัญชงและกระท่อม หารือในรายละเอียดในการกำกับดูแลต่อไป