แข่งเปิดปท.ฟัดเดือด ลุ้นเที่ยวไทย 10 ล้านคน SETกำไรอู้ฟู่ ถ่างเหลื่อมล้ำ SME

31 ต.ค. 2564 | 18:13 น.
อัปเดตล่าสุด :01 พ.ย. 2564 | 01:34 น.

ทุกภาคส่วนของไทยกำลังเตรียมพร้อมรับเปิดประเทศ 1 พ.ย.นี้ ท่ามกลางความกังวลการกลับมาแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อยังอยู่ในระดับสูง และในความเป็นจริงรัฐบาลก็ยังไม่สามารถฉีดวัคซีนได้ถึง 70% ของจำนวนประชากรเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

 

นายเกรียงไกร  เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การเปิดประเทศยังมีความเป็นห่วงในหลายเรื่อง เฉพาะอย่างยิ่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อรับการเปิดประเทศที่เวลานี้ในข้อเท็จจริง ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ก็ยังไม่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินได้จริง เพราะกลไกยังต้องผ่านกฎเกณฑ์ของสถาบันการเงินในระบบเดิมอยู่ 

 

“ความต้องการสินเชื่อหรือเงินที่จะไปฟื้นฟูธุรกิจของเอสเอ็มอี นอกเหนือสินเชื่อจากภาครัฐแล้ว สินเชื่อในตลาด เอสเอ็มอีก็ไม่รู้จะไปหาเงินจากไหน เพราะว่าการหยุดหรือชะลอธุรกิจอันเนื่องมาจากโควิดเป็นเวลานาน แม้ตอนนี้จะคลายล็อกกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การใช้ชีวิตปกติเริ่มกลับมา แต่ว่าคนที่บาดเจ็บไปจำนวนมาก คนที่เคยมีเงินสำรองตอนนี้บางคนก็ใช้ไปหมดแล้ว บางคนก็ยังกู้หนี้ยืมสินติดลบอยู่ เพราะฉะนั้นก็ขาดแรงที่จะมาฟื้นฟูธุรกิจของตัวเอง”

 

แข่งเปิดปท.ฟัดเดือด ลุ้นเที่ยวไทย 10 ล้านคน SETกำไรอู้ฟู่ ถ่างเหลื่อมล้ำ SME

 

  • ไส้ในเอสเอ็มอีเริ่มหมดแรง

สำหรับผู้ประกอบที่ได้รับผลกระทบ แบ่งเป็นอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ภาคบริการ ภาคค้าปลีก ภาคภัตตาคาร ในกลุ่มเหล่านี้ ผู้ที่มีสายป่านยาวที่เป็นเชนใหญ่ ๆ ก็ยังพอไปไหว แม้ว่าจะค่อย ๆ ฟื้นตัว เพราะเวลานี้คนก็เริ่มออกมาจับจ่ายใช้สอย ตามห้างสรรพสินค้าก็มีคนมากขึ้น การผ่อนปรนเวลา ช่วงเวลาเคอร์ฟิวก็ขยายให้ แต่ร้านที่ไม่มีเงินและติดลบยังไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ เพราะฉะนั้นร้านค้าส่วนใหญ่ ถึงแม้ลูกค้าจะกลับมาแล้วแต่ตัวเองยังไม่สามารถฟื้นตัวออกได้ก็ยังลำบากอยู่

 

ดังนั้นการขอสินเชื้อเพื่อฟื้นธุรกิจจะมีกลไกอย่างไรที่จะทำให้กลไกตรงนี้สามารถเปิดได้ ตรงนี้พูดถึงภาคบริการ โดยเฉพาะภาคบริการ และท่องเที่ยวที่ต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติ อย่างเช่นร้านนวด ตอนนี้ต่างชาติก็ยังไม่ค่อยเข้ามา จะฟื้นตัวกลับมาก็ยังไม่ได้เต็มที่ แต่พวกที่อาศัยตลาดในประเทศยังพอไปได้ แต่ก็จะได้แต่พวกอย่างเชนภัตตาคาร ร้านอาหารที่เป็นเชนใหญ่ ๆ ที่มีสายป่าน มีเงินทุนหนา ก็ยังพอกลับมาสตาร์ทได้ หรือค่อย ๆ ฟื้นตัวได้เมื่อเศรษฐกิจคลายล็อกมีคนมาใช้บริการมากขึ้น แต่พวกที่เป็นรายเล็ก ๆ  ตอนนี้ที่สายป่านสั้น เงินทุนสำรองหมดเกลี้ยง ไม่มีทุนสำรอง แล้วบางคนยังต้องไปกู้นอกระบบ หรือ ที่ต้องไปหยิบยืมและติดลบ ตอนนี้จะไปหาฟันด์ใหม่ๆ โดยไปกู้กับธนาคารก็ไม่ได้ ไม่มีเงินที่จะมาฟื้นธุรกิจตัวเองได้

 

แข่งเปิดปท.ฟัดเดือด ลุ้นเที่ยวไทย 10 ล้านคน SETกำไรอู้ฟู่ ถ่างเหลื่อมล้ำ SME

 

 

ดังนั้นเอสเอ็มอีภาคบริการส่วนใหญ่ยังมีปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อ ก็ยังเป็นปัญหาใหญ่อยู่ ซึ่งอันนี้ก็คงต้อเป็นเรื่องที่ต้องคุยกันว่าจะหากลไกอย่างไร เพราะเป็นเรื่องที่คุยกันมานานแล้ว แต่การแก้ไขปัญหาก็ยังไปไม่ถึงไหน ซึ่งเอสเอ็มอีในภาคท่องเที่ยว และบริการคงต้องใช้เวลานานพอสมควรในการฟื้นธุรกิจ เพราะแบงก์มองยังมีความเสี่ยงก็เลือกจะปล่อยกู้เฉพาะราย ก็ยังเป็นปัญหาเดิมๆ

 

  • อุตฯส่งออกยังวิ่งฉลุย-นำเข้ากระอัก

ส่วนในภาคอุตสาหกรรม ถ้าเป็นอุตสาหกรรมผลิตเพื่อส่งออกที่มีออเดอร์ไม่ค่อยมีปัญหา เพราะตอนนี้แบงก์ต่าง ๆ ก็มองเห็นแล้วว่าเป็นเครื่องยนต์ หรืออุตสาหกรรมเดียวที่มีอนาคตดี ถ้ามีออเดอร์ต่างประเทศมา ส่วนใหญ่การขอขยายวงเงินเครดิตต่าง ๆ ไม่ค่อยมีปัญหา แต่ภาคอุตสาหกรรมที่ขายในประเทศจากซบเซามาพอสมควร ตอนนี้ก็เริ่มฟื้น ออเดอร์เริ่มกลับมาแล้ว แต่เอสเอ็มอีที่เป็นซัพพลายเชนก็ประสบปัญหา โดยเฉพาะบางโรงงานต้องนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งตอนนี้ซัพพลายเชนที่ต้องนำเข้าอะไหล่ หรือวัตถุดิบก็ช็อต เพราะบางทีต้องนำเข้าจากจีนหรืออินเดีย ที่กำลังประสบปัญหาขาดแคลนพลังงานและลดการผลิต เกิดปัญหาซัพพลายเชนดัสรัปชั่นในต่างประเทศ มิหนำซ้ำยังไปเจอเรื่องค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ทำให้ต้นทุนการนำเข้าสูงขึ้น ก็เลยทำให้โดน 2 เด้งไป

 

“ดังนั้นการให้สินเชื่อในการนำเข้าสินค้าก็ต้องขยายวงเงินให้เขา เพราะค่าเงินบาทก็อ่อนลง ตอนนี้เงินเฟ้อสูงขึ้น พวกราคาโภคภัณฑ์ทุกอย่าง รวมทั้งค่าขนส่งแพงขึ้น ดังนั้นโรงงานเอสเอ็มอีที่ต้องนำเข้าชิ้นส่วน เครื่องจักร หรืออะไหล่จากต่างประเทศตอนนี้ก็ยิ่งลำบาก เพราะต้องขยายวงเงินเพิ่มขึ้น ผมกำลังพูดว่า ส่งออกไม่มีปัญหาเพราะยังมีออเดอร์ ธนาคารสนับสนุนเต็มที่ แต่ผู้นำเข้าเจอ 2 เด้งทั้ง 1.ค่าเงินบาทอ่อน 2.กำลังซื้อในประเทศยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควรแต่ค่อย ๆ ฟื้น

ขณะเดียวกันเรื่องซัพพลายเชน โภคภัณฑ์ในโลกก็เกิดปัญหาราคาแพงขึ้น เช่นราคาน้ำมันดิบสูงขึ้นกว่า 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลแล้ว ส่งผลให้ราคาน้ำมนในประทศปรับตัวสูงขึ้นตาม ฉะนั้นก็จำเป็นต้องขยายวงเงินสินเชื่อเพื่อให้ผู้ประกอบการมีเงินเพียงพอที่จะนำเข้ามา เหล่านี้ก็ยังเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข”

 

  • บริษัทใน SET กำไรอู้ฟู ยิ่งถ่างเหลื่อมล้ำเอสเอ็มอี

ก็เลยกลับไปอยู่ในปัญหาเดิม ๆ ว่าในช่วงโควิดที่ผ่านมา 1 ปี บริษัทใหญ่ ๆ ที่มีทุนรอน มีเงิน จะสังเกตบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์(SET))มียอดกำไรรวมกันมากกว่า 1 ล้านล้านบาท ถือว่าเยอะมาก จะเห็นว่าความรวยของธุรกิจทั้งหลายไปรวมศูนย์อยู่ในบริษัทขนาดใหญ่ ขณะบริษัทเล็ก ๆ ปิดตัวไปจำนวนมากหมายความว่าบริษัทขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีความได้เปรียบมาก ตอนนี้ความเหลื่อมล้ำยิ่งสูงขึ้นไปใหญ่ ความเหลือมล้ำทางเศรษฐกิจ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนยิ่งลำบากใหญ่ บริษัทใหญ่ ๆ ที่สามารถระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้อย่างง่ายดาย ต้องการเงินเท่าไหร่ก็ระดมทุนได้ ออกตราสาร อะไรต่าง ๆ ได้ง่าย ขณะที่เอสเอ็มอีทั้งหลาย “เลือดตาแทบกระเด็น”

 

แข่งเปิดปท.ฟัดเดือด ลุ้นเที่ยวไทย 10 ล้านคน SETกำไรอู้ฟู่ ถ่างเหลื่อมล้ำ SME

 

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศในช่วงโควิดที่ผ่านมากำลังซื้อก็ลดลง กิจกรรมต่าง ๆ ก็แย่ลง ขณะเดียวกันยังโดนสินค้าออนไลน์จากประเทศจีนหรือจากประเทศที่มีราคาถูกกว่าเข้ามาตีตลาดพวกโรงงานขนาดเล็ก เลยทำให้โรงงานขนาดเล็กแย่ไปด้วย

 

  • ย้ำรัฐต้องกู้เพิ่มอีก 1 ล้านล้าน

ก็เคยพูดกันไว้ว่าจากแนวทางที่ผมพูดและไปตรงกับแนวทางที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และหน่วยงานของสายเศรษฐกิจของหลาย ๆ ธนาคารที่ออกมาพูดในทิศทางเดียวกันว่า มันเกิดหลุมดำทางรายได้ที่หายไปช่วงโควิด 3 ปี 2563-2565  ทำให้รายได้ครัวเรือนหายไป 2.6 ล้านล้านบาท ตอนนี้เรากู้มาแล้ว 1 ล้านล้านบาท บวกกับอีก 5 แสนล้านในรอบ 2 ที่เพิ่งกู้เพิ่ม ยังขาดอีก 1-1.1 ล้านล้านบาท ซึ่งเอาไว้เพื่อมาเติม และเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีต่อไป

 

เพราะทันทีที่เราเริ่มคลายล็อกถึงสิ้นปีนี้เราเชื่อว่าการฉีดวัคซีน ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดน่าจะได้ตามเป้าที่วางไว้ เพราะฉะนั้นในต้นปีหน้าก็จะมีการเปิดประเทศแบบเต็มที่มากขึ้น ก็ต้องมาพร้อมกับเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งการที่กระทรวงขยายเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% เป็นไม่เกิน 70% ของจีดีพี จริง ๆ ก็ทำให้มีความยืดหยุ่น และมีความคล่องตัวมากขึ้นในการที่จะขยายวงเงินในการกู้อีกอย่างน้อย 1 ล้านล้านบาทขึ้นไป ถ้าเอาเข้ามาก็จะช่วยในการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาหมุนเวียนได้ ซึ่งเหล่านี้ก็เป็นเรื่องของความสามารถในการบริหารจัดการ ก็ต้องยิงให้ถูกต้อง และต้องโปร่งใสอย่างที่ทุกคนพูดกัน ต้องไปในจุดที่แก้ปัญหาตรงเป้า ตรงจุด และรวดเร็ว ต้องมีความโปร่งใส และมีความสามารถในการบริหารจัดการที่ดี

 

  • แข่งเดือดเปิดประเทศ-ลุ้นนักท่องเที่ยว 10 ล้านคนถึง-ไม่ถึง

ปี 2564 คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันปรับคาดการณ์จีดีพีขึ้นเป็น 0-1%  (จากเดิม -0.5% ถึง 1%)จากการที่รัฐบาลประกาศเปิดประเทศและคลายล็อกต่างๆ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาทำงานมากขึ้นส่วนปี 2565 น่าจะบวกได้กว่านี้ อาจจะได้ประมาณ 3% หรือ 3% กว่า จากการส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดีตามเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว เวลานี้ทุกประเทศกำลังเปิดประเทศ ทำให้มีความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น เราส่งออกได้เพิ่มขึ้น 2.ในปีหน้าก็คาดการณ์ว่า ถ้าเราสามารถฉีดวัคซีนได้ตามเป้า มาตรการต่าง ๆ การเดินทางท่องเที่ยวก็น่าจะมีนักท่องเที่ยวเริ่มเดินทางกลับมา ซึ่งทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)ตั้งเป้าไว้ที่ 10 ล้านคน แต่ส่วนตัวมองว่าอาจจะไม่ถึง 10 ล้านคน เพราะก็จะมีคู่แข่งในภูมิภาคที่จะเปิดประเทศและดึงลูกค้าเหมือน

 

ประกอบกับนักท่องเที่ยวยังไม่ได้ออกเดินทางทีเดียวมากมายพร้อม ๆ กัน แม้จะเดินทางมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แต่ว่าคงไม่เหมือนเดิมเหมือนในปี 2562 ดังนั้น 10 ล้านคนที่บอกว่ามา เราก็ต้องคำนึงถึงประเทศคู่แข่งรอบบ้านเราที่กำลังเปิดประเทศพร้อมกัน และก็แข่งขันในการที่จะดึงลูกค้าเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ททท.ตั้งเป้าไว้ 10 ล้านคนก็เป็นตัวเลขที่ท้าทาย เพราะต้องคำนึงถึงว่าในภูมิภาคนี้เรามีคู่แข่งหลายประเทศที่เปิดประเทศพร้อมๆ  กัน และมีแพ็กเกจดีๆ ที่พยายามดึงดูดนักท่องเที่ยวแข่งกัน ตรงคิดว่าปีหน้าตัวเลขการท่อเที่ยวต้องดีกว่าปีนี้แน่ รวมถึงการลงทุนก็น่าจะดีขึ้น เพราะว่าค่าเงินบาทของเราก็อ่อนค่าลงไปมาก