รายงานข่าวระบุว่า สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้ดำเนินการร่วมกับสถาบันพลาสติกพัฒนาเซิร์ฟสเก็ตภายใต้โครงการการพัฒนาและส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ที่ทำจากวัสดุเหลือทิ้งอย่างชานอ้อย ซึ่งมีปริมาณมากจากการผลิตน้ำตาล อีกทั้งยังถือเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายและตอบสนองต่อนโยบาย BCG ของทางรัฐบาลอีกด้วย
สำหรับตัวเซิร์ฟสเก็ตจะทำจากอิพอกซีและชานอ้อยด้วยวิธีการหล่อ (Casting) ซึ่งมีลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ของชานอ้อยและช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับเซิร์ฟสเก็ต หากเทียบราคากับเซิร์ฟสเก็ตที่มีขายทั่วไปในท้องตลาดแล้วถือว่ามีราคาที่ต่ำกว่าทำให้ผู้ที่มีงบน้อยสามารถจับต้องได้
นอกจากนั้นภายในโครงการฯ ได้มีการนำผลผลิตจากอ้อยและน้ำตาลมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในรูปแบบต่าง ๆ อาทิเช่น ถุงพลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้ ถุงซองน้ำตาล ยูเอสบีแฟลชไดรฟ์ เหล้ารัม ลิปบาล์มที่มีส่วนผสมจากไขอ้อย สบู่เหลวผสมสควาเลนและเยื่อสกัดจากชานอ้อย เป็นต้น โดยเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เศษเหลือทิ้งจากชานอ้อย
ทั้งนี้ เซิร์ฟสเก็ตภายใต้โครงการดังกล่าวได้ถูกส่งมอบให้กับ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตกรุงเทพ สวนวชิรเบญทัศ (สวนรถไฟ) สวนสมเด็จสราญราษฎร์มณีรมย์ (Pink Park) และบ้านเด็กกำพร้า (บ้านลูกรัก) จ.ขอนแก่น เพื่อเป็นการขยายโอกาสให้แก่ผู้ที่สนใจในการเล่นเซิร์ฟสเก็ต ในกิจกรรม อ้อยสู่เซิร์ฟสเก็ต เพื่อน้อง
"กิจกรรมดังกล่าว ถือเป็นการเปิดตัวเซิร์ฟสเก็ตที่พัฒนาขึ้นจากเศษชานอ้อย ซึ่งจะช่วยสร้างการรับรู้ให้แก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป ได้รับรู้ถึงคุณค่าของอ้อยและน้ำตาลทรายที่ไม่ได้ให้แค่ความหวาน แต่ยังสามารถทำประโยชน์อย่างอื่นได้หลากหลายอีกด้วย"