เตือน เคลื่อนย้ายหมู หมูป่า ซากสัตว์ ต้องขออนุญาตก่อน

29 ต.ค. 2564 | 19:11 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ต.ค. 2564 | 02:12 น.
2.7 k

กฎหมายบังคับใช้แล้ว "กรมปศุสัตว์" เตือน เคลื่อนย้ายหมู หมูป่า ซากสัตว์ ต้องขออนุญาตก่อน ผิดกฎหมาย สนองนโยบาย “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” รัฐมนตรีเกษตรและสหกรณ์ ป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร

ตามที่ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบนโยบายสร้างวิกฤติในโอกาส โดยสั่งการให้กรมปศุสัตว์ทำงานเชิงรุกป้องกันการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาสุกร (African Swine Fever: ASF) ในพื้นที่ความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะจังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน จนทำให้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องในการป้องกันการแพร่ระบาดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร

 

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต

 

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยว่า  ประเทศไทยคงสถานะปลอดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเพียงประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคจะกระจายไปกว่า 34 ประเทศทั่วโลกแล้วก็ตาม ทำให้การส่งออกสุกรในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นมากกว่า 300% คิดเป็นมูลค่ากว่า 22,000 ล้านบาท และเชื่อมั่นว่าการส่งออกในปี 2564 นี้จะเพิ่มขึ้น

ตรวจเข้ม

 

เพื่อเป็นคงสถานะปลอดโรค ASF อย่างเข้มงวดต่อเนื่อง กรมปศุสัตว์ จึงได้ร่างระเบียบกรมปศุสัตว์ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการอนุญาตเคลื่อนย้ายสุกร หมูป่าหรือซากสุกร ซากหมูป่าเข้า ออก ผ่าน หรือภายในเขตเฝ้าระวังโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร พ.ศ.2564

 

โดยล่าสุดได้ประกาศลงเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 28 ตุลาคม 2564ระเบียบกรมปศุสัตว์ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการอนุญาตเคลื่อนย้ายสุกร หมูป่าหรือซากสุกร ซากหมูป่าเข้า ออก ผ่าน หรือภายในเขตเฝ้าระวังโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร พ.ศ.2564 มีสาระสำคัญ ดังนี้

 

1. การเคลื่อนย้ายสุกรมีชีวิตเพื่อเข้าโรงฆ่าสัตว์และนำไปเลี้ยง มีเงื่อนไขเพิ่มเติม

 

1.1 กรณีฟาร์มปลายทางเคยพบความเสี่ยงสูงมาก ต้องทำลายมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน และต้องเป็นฟาร์มมาตรฐาน GAP ขึ้นไป มีการใช้ตัวเฝ้าระวังในการทดสอบ (sentinel) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของกำลังการผลิต เลี้ยงเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 6 สัปดาห์ และก่อนลงเลี้ยงจริงต้องมีการเก็บตัวอย่างพื้นผิวโรงเรือนเลี้ยงสุกร (surface swab) 2 ครั้ง ห่างกัน ครั้งละ 1 สัปดาห์

 

​1.2 กรณีฟาร์มต้นทางเคยพบความเสี่ยงสูงมาก ต้องทำลายมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน และต้องเก็บตัวอย่างสุกรที่ฟาร์มปลายทางหลังลงเลี้ยงวันที่ 1 และ 7 ครั้งละ 15 ตัวอย่าง

 

​1.3 เฉพาะกรณีเคลื่อนย้ายข้ามเขต ต้องมีหลักฐานการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อจากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดหรือสำนักงานปศุสัตว์อำเภอ อย่างน้อย 1 หน่วยงาน

 

​1.4 กรณีเคลื่อนย้ายเพื่อนำไปเลี้ยง ฟาร์มปลายทางต้องได้รับการรับรอง GFM ขึ้นไปเท่านั้น

2. การเคลื่อนย้ายซากสุกรหรือหมูป่า ในวันที่เคลื่อนย้ายจริงต้องแนบใบ รน. ของซากชุดที่จะเคลื่อนย้ายไปพร้อมหนังสืออนุญาตเคลื่อนย้ายทุกครั้ง สำหรับพื้นที่พิเศษ (พื้นที่ที่มีการออกหนังสืออนุญาตเคลื่อนย้ายสุกรจำนวนมาก

 

เช่น นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร ขอนแก่น นครราชสีมา เป็นต้น) ต้องแจ้งแผนล่วงหน้า 14 วัน มีใบรับรองโรงฆ่า มีผล surface swab และผลตรวจซาก โดยการเก็บตัวอย่างซากดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ทุกๆ 2 เดือน และการเก็บตัวอย่างสิ่งแวดล้อมในโรงฆ่าดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทุกเดือน

 

เฝ้าระวังโรค

3. การเคลื่อนย้ายสุกรหรือหมูป่ามีชีวิตผ่านคอกขายกลาง ให้สัตวแพทย์พื้นที่ต้นทางทำหนังสือแจ้งสถานที่ปลายทางถัดจากคอกกลางแก่สัตวแพทย์พื้นที่ที่คอกกลางตั้งอยู่ โดยแนบไปพร้อมหนังสืออนุญาตเคลื่อนย้าย

 

อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ระเบียบกรมปศุสัตว์ฯ ฉบับนี้ เพื่อให้การปฏิบัติงานเกี่ยวกับการควบคุมการเคลื่อนย้ายสุกร หมูป่า หรือซากสุกร ซากหมูป่า เข้า ออก ผ่าน หรือภายในเขตเฝ้าระวังโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

 

อันส่งผลให้การป้องกันและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรมีประสิทธิภาพมากขึ้น และไม่เป็นการสร้างภาระด้านค่าใช้จ่ายในการตรวจโรคแก่เกษตรกรมากเกินความจำเป็น รวมทั้งเป็นการช่วยให้การปฏิบัติงานในการคงสถานะปลอดโรค ASF ของประเทศไทยและรักษาความมั่นคงด้านอาหารของประเทศโดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิด-19 ได้อย่างต่อเนื่อง