เตือน “อุบลราชธานี-ศรีสะเกษ” โดนก่อน พายุลูกใหม่เข้าไทย 28 ต.ค.

22 ต.ค. 2564 | 19:42 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ต.ค. 2564 | 02:45 น.
35.6 k

กรมอุตุฯ ไลฟ์สด จับตา พายุลูกใหม่ ก่อตัว 24 ต.ค. เร็วก่อนกำหนด พายุ เปลี่ยนทิศไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ เข้าทางอีสานใต้ “อุบลราชธานี -ศรีสะเกษ “จังหวัดแรกของประเทศไทย พายุเข้า วันที่ 28 ต.ค.นี้ เวลาประมาณ 1 ทุ่ม

วันที่ 22 ตุลาคม 2564 ดร.วัฒนา กันบัว ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาระบบงานการพยากรณ์อุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา ไลฟ์สด ผ่านเพจเฟซบุ๊ก  Thai Marine Meteorological Center  อัพเดทเส้นทาง "พายุโซนร้อน" ลูกใหม่ คาดพายุก่อตัวในวันที่ 24 ตุลาคม เวลาประมาณ ตี 1 จะเห็นพายุก่อตัวเร็วกว่าที่กำหนดเดิม คือวันที่ 25 ตุลาคม

 

จากนั้นก็จะพัฒนา เปลี่ยนทิศเป็นตะวันตกเฉียงเหนือ เนื่องจากความกดอากาศสูง ลงมาน้อย ทำให้พายุวิ่งเป็นมุม 45 องศา จากกลางทะเลจีนใต้พุ่งผ่านประเทศเวียดนาม แต่ยังแรง เข้าสู่กัมพูชา เวลาบ่ายโมงของวันที่ 28 ตุลาคม

 

หลังจากนั้นจะเข้าทางอีสานใต้ ก็คือ "จังหวัดอุบลราชธานี  ศรีสะเกษ" ประมาณ 1 ทุ่ม นี่เป็นข้อมูลใหม่ล่าสุด ประกอบกับความกดอากาศสูงก็ไม่ได้ดันต่ำลงมา จากนั้นพายุจะแผ่รัศมีคลอบคลุมทั้งพื้นที่ภาคอีสานทั้งหมด เพราะแรงเหวี่ยง เนื่องจากพายุลูกนี้ใหญ่ เป็นเวลา ตี1 ของวันที่ 29 ตุลาคม

 

จากนั้นความกดอากาศก็เริ่มกดลงมา แต่ก็ยังมีฝนตกหนักมาก เมื่อความกดอากาศสูงลงมา ทำให้พายุเสียการทรงตัวกรวยจะเอียง คาดว่าเปลี่ยนตัวจากดีเปรสชัน เป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ แล้วเมื่อพิจารณาจากสี เห็นพายุตัวนี้มีลูกเฉื่อยไม่ได้ถูกทำลาย หรือสลายตัว โดยเร็ว เส้นทางอาจจะทำให้เข้าสู่ภาคเหนือแล้วสลายตัว เนื่องจากความชื้นไม่พอ

 

หลังจากนั้นร่องก็ดีดกลับมาอีก เมื่ออากาศเย็นแผ่ลงมา ในวันที่ 30 ตุลาคม 2564 เวลาประมาณ 1 ทุ่ม ฝนตกกระจายไปยังภาคกลาง คาดว่าพายุจะสิ้นสุดลงในวันที่ 1 พฤจิกายน แต่กว่าจะจบได้ บางพื้นที่มีน้ำท่วมขังอยู่แล้ว ยังมาโดนฝนพายุใหม่ตกซ้ำ อีกก็จะทำให้เกิดความวิตกกังวล ที่สำคัญการอัพเดทเส้นทางพายุอยู่ในเวลาที่มีความน่าเชื่อถือในการพยากรณ์

 

 

ด้าน สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน.สรุปสถานการณ์น้ำประจำวันที่ 22 ตุลาคม 2564 จากระบบคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ นับถอยหลัง เหลืออีก 10  วัน สิ้นสุดฤดูฝน ประจำปี 2564  มีปริมาณน้ำใช้การของ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยามีน้ำใช้การได้รวม 7,227 ล้านลูกบาศก์เมตร ต้องการน้ำเก็บกักเพิ่ม 4,773 ล้านลูกบาศก์เมตร ประมาณการความต้องการใช้น้ำช่วงฤดูแล้ง และช่วงต้นฤดูฝนของปี 2565 (อุปโภค-บริโภคการเกษตรและระบบนิเวศ) 12,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

 

อีก 10 วัน สิ้นสุดฤดูฝน