ผ่างบ “เกษตรฯ” กว่าแสนล้าน หนุนยุทธศาสตร์ชาติ พัฒนาภาคเกษตรไทย

15 ต.ค. 2564 | 18:42 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ต.ค. 2564 | 01:43 น.

ก.เกษตรฯ ดัน “5 ยุทธศาสตร์” นโยบาย “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” พร้อมลุยงบ ปีงบประมาณ 2565 ได้รับจัดสรร กว่า 1.1 แสน ล้านบาท คลื่อนทัพหนุนยุทธศาสตร์ชาติ พัฒนาภาคเกษตรไทย ทันที

อลงกรณ์ พลบุตร

 

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงวันนี้ (15 ต.ค.) ว่า ตามนโยบาย “5 ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย”  ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มุ่งกระตุ้นการสร้างเศรษฐกิจรากฐานให้กับประเทศ กระทรวงเกษตรฯ จึงได้ดำเนินการตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ โดยมุ่งเน้นภาพรวมในด้านต่างๆ

 

ตลอดจนมีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรกรรม จึงจำเป็นต้องมีกลยุทธ์และยุทธศาสตร์บริหารการพัฒนาที่ชัดเจนสามารถปฏิบัติได้ จึงได้วางแนวทางการพัฒนาภาคเกษตรกรรม 5 ยุทธศาสตร์ และ15 นโยบายหลัก

 

เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารสู่เป้าหมายดังกล่าว ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต 2. ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีเกษตร 4.0 3. ยุทธศาสตร์ “3’s” (Safety-Security-Sustainability- เกษตรปลอดภัย เกษตรมั่นคงและเกษตรยั่งยืน) 4. ยุทธศาสตร์การบริหารเชิงรุกแบบบูรณาการกับทุกภาคส่วนโดยเฉพาะโมเดล “เกษตร-พาณิชย์ทันสมัย” และ 5. ยุทธศาสตร์เกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวทางศาสตร์พระราชา พร้อมกันนี้ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงาน เร่งดำเนินโครงการตามแผนงานในปีงบประมาณ 2565 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไวที่สุดในช่วงภาวะวิกฤตโควิด

 

“กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยทุกหน่วยงานในสังกัด พร้อมที่จะขับเคลื่อนแผนงานและโครงการต่างๆ ที่สำคัญในปีงบประมาณ 2565 ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ได้รับการพัฒนาศักยภาพให้มีความเข้มแข็งนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการด้านเกษตร เพื่อยกระดับรายได้เกษตรกรและสร้างความสามารถในการแข่งขันอย่างมั่นคง และยั่งยืน” ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว

ฉันทานนท์ วรรณเขจร

 

ด้านนายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) และโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงงบประมาณของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้รับการจัดสรรในปีงบประมาณ 2565 ว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2564  ซึ่งมีผลใช้บังคับ 1 ตุลาคม 2564

 

โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับจัดสรรงบประมาณปี 2565 จำนวน 110,902.5681 ล้านบาท ลดลงจากปี 2564 จำนวน 929.9490 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 0.83) จำแนกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 1) กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบุคลากรภาครัฐ จำนวน 24,572.0510 ล้านบาท 2) กลุ่มงบประมาณรายจ่ายของกระทรวง/หน่วยงาน (Function)  จำนวน 34,752.9903 ล้านบาท

 

3) กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ (Agenda) จำนวน 50,612.5268 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกี่ยวข้อง 5 แผนบูรณาการ อาทิ แผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก จำนวน 579.0475 ล้านบาท  แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จำนวน 49,912.4173 ล้านบาท แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 107.7242 ล้านบาท และ 4) กลุ่มงบประมาณสำหรับทุนหมุนเวียน จำนวน 965.0000 ล้านบาท

 

สำหรับการขับเคลื่อนงบประมาณปี 2565 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี รวมทั้งแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ การพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) นโยบายสำคัญของรัฐบาล และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง นโยบายและแนวทางการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ใน 5 ยุทธศาสตร์

 

ชาวนา แปลงใหญ่

ประกอบด้วย 1) ด้านความมั่นคง วงเงิน 257.5683 ล้านบาท ดำเนินการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านการประมง ป้องกันและแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) และพัฒนาอาชีพด้านการเกษตรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 2) ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน วงเงิน 28,529.9676 ล้านบาท ดำเนินการในเรื่องเกษตรอัตลักษณ์ พื้นถิ่น เกษตรปลอดภัย เกษตรชีวภาพ เกษตรแปรรูป เกษตรอัจฉริยะ และส่งเสริมการพัฒนาระบบนิเวศการเกษตร เพื่อเสริมสร้างให้การพัฒนาภาคเกษตรมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

 

3) ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาค ทางสังคม วงเงิน 2,046.9633 ล้านบาท ดำเนินการในเรื่องส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และถ่ายทอดความรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการหลวง ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ และบริหารจัดการที่ดินทำกินแก่เกษตรกรรายย่อยและผู้ด้อยโอกาส  4) ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม วงเงิน 80,058.0689 ล้านบาท

 

ดำเนินการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบเกี่ยวกับการก่อสร้างโครงการชลประทาน การป้องกันระดับน้ำเค็ม การปฏิบัติการฝนหลวง จัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม การบริหารจัดการพื้นที่ชลประทานเดิม และการลดการเผา ในพื้นที่เกษตร และ 5) ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ วงเงิน 10.0000 ล้านบาท ดำเนินการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการเกษตรให้สามารถเชื่อมโยงกับหน่วยงานภายในและภายนอกกระทรวง เพื่อนำมาวิเคราะห์ประกอบการวางแผนด้านการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ