"กรมอุตุนิยมวิทยา" ออกประกาศ "พายุดีเปรสชัน" ฉบับที่2

06 ต.ค. 2564 | 23:00 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ต.ค. 2564 | 06:36 น.
18.1 k

ประกาศ “กรมอุตุนิยมวิทยา” ฉบับที่ 2 "พายุดีเปรสชัน” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลางพายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อยด้วยความเร็วประมาณ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน ในช่วงวันที่ 10-11 ต.ค.นี้ เตือนน้ำท่วมฉับพลัน

นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศ ฉบับที่ 2 "พายุดีเปรสชัน” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง เมื่อเวลา 19.00 น. วันนี้ (6 ต.ค. 2564) พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 15.5 องศาเหนือ ลองจิจูด 112.0 องศาตะวันออก ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อยด้วยความเร็วประมาณ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน ในช่วงวันที่ 10-11 ตุลาคม 2564

 

อนึ่ง มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ในช่วงวันที่ 7-11 ตุลาคม 2564 ลักษณะเช่นนี้ทำให้คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนอ่าวไทยคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง

 

จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

 

        ประกาศ ณ วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2564 เวลา 23.00 น.

 

 

ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ฉบับที่2 พายุดีเปรสชัน บริเวณทะเลจีนใต้

 

ช่วงเวลาเดียวกัน กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ประกาศ เรื่อง  เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน  จากการคาดการณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่ามีร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังค่อนข้างแรง ในช่วงวันที่ 6 – 8 ตุลาคม 2564 ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางแห่งในภาคใต้ฝั่งตะวันตก

 

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ประเมินสถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) มีพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนัก เฝ้าระวังน้ำไหลหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ในช่วงระหว่างวันที่ 6 – 10 ตุลาคม 2564 ดังนี้

 

1. เฝ้าระวังน้ำหลาก ดินถล่ม และน้ำท่วมฉับพลัน ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี จันทบุรี ตราด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

 

2. เฝ้าระวังระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ บริเวณแม่น้ำเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี ลำตะเพิน จังหวัดกาญจนบุรี และแม่น้ำตาปี จังหวัดสุราษฎร์ธานี

 

กอนช. ประกาศรับมือน้ำท่วมฉับพลัน

 

3. เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 80% ของความจุ เสี่ยงน้ำล้นทางระบายน้ำล้นอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่บริเวณท้ายน้ำ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำลำตะเพิน อ่างเก็บน้ำพุตะเคียน จังหวัดกาญจนบุรี อ่างเก็บน้ำห้วยมะหาด จังหวัดราชบุรี อ่างเก็บน้ำห้วยไทรงาม จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อ่างเก็บน้ำคลองหยา และอ่างเก็บน้ำคลองแห้ง จังหวัดกระบี่

 

ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้

 

1. ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ

 

2. พิจารณาบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 หรือเกณฑ์ควบคุมสูงสุด (Upper Rule Curve) เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายอ่างเก็บน้ำ รวมทั้งใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นแก้มลิงหน่วงน้ำและรองรับน้ำหลาก

3. ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ และติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเตรียมความพร้อมรับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วม ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

4. เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที

 

5. ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ และเตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์