จับตาพายุลูกใหม่ คาดเคลื่อนตัวสู่ทะเลจีนใต้ วันที่ 8-12 ต.ค.

27 ก.ย. 2564 | 09:56 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ก.ย. 2564 | 11:13 น.
91.5 k

กลุ่ม “แจ้งข่าวเตือนภัยพิบัติ” โพสต์ อัพเดท พายุลูกใหม่ที่คาดว่าจะเคลื่อนเข้าสู่ทะเลจีนใต้ วันที่ 8-12 ต.ค.นี้  รอลุ้น มี 2 รายชื่อ ร่วมแข่ง “ไลออนร็อก” ตั้งชื่อโดยฮ่องกง  ส่วน “คมปาซุ”  ตั้งโดยประเทศญี่ปุ่น อธิบดีกรมอุตุฯ คาดถ้ามีพายุเข้าน่าจะถล่มภาคใต้

เฟซบุ๊ก กลุ่ม “แจ้งข่าวเตือนภัยพิบัติ” โพสต์  จับตาพายุหมุนเขตร้อนในมหาสมุทรแปซิฟิกที่คาดการณ์ว่าจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ทะเลจีนใต้ราวๆ วันที่ 8-12ตุลาคม 2564

 

รายชื่อที่คาดการณ์ว่าจะได้ใช้มี 2 รายชื่อ

 

  • 1.ไลออนร็อก "Lionrock" ตั้งโดยฮ่องกง ชื่อหินบนเขาแห่งหนึ่งในฮ่องกง รูปร่างคล้ายสิงโตหมอบ

 

  • 2.คมปาซุ コンパス "Kompasu" ตั้งโดยประเทศญี่ปุ่น หมายถึงวงเวียน หรือ กลุ่มดาววงเวียน

 

อัพเดทพายุแบบจำลองล่วงหน้า 15 วันแบบจำลอง gfs ของสหรัฐอเมริกา

 

แบบจำลองอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงติดตามการอัพเดทของแบบจำลอง gfs เรื่อยๆจนกว่าพายุจะเกิดขึ้นจริง!!

 

อัพเดท พายุลูกใหม่

ดร.ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์

 

ด้าน ดร.ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา  เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึง พายุลูกใหม่ที่ต่อจาก "พายุเตี้ยนหมู่" ยังอยู่อีกไกล อยู่ในแถบทะเลฟิลิปปินส์  แต่ก็จับตามองอยู่

 

ส่วนโอกาสน้ำท่วมซ้ำรอยปี 2554 มีโอกาสเป็นไปได้น้อยมาก เพราะสุดท้ายพายุที่เข้ามาจะสลาย กลายเป็นดีเปรสชัน  "พายุเตี้ยนหมู่" เป็นพายุลูกสุดท้ายของเดือนกันยายน แล้ว

 

ส่วนอีกพายุอีกลูกที่อยู่ไกล คาดการณ์ว่าจะพัดขึ้นทางเหนือ อาจจะไม่เข้าไทย แต่ถ้ามองในมุมของกรมชลประทาน ซึ่งก็อยากได้อีกสักลูกส่งท้าย เพราะน้ำในเขื่อนด้านบนยังไม่ค่อยมาก ต้องการเก็บกักน้ำใว้ใช้ในฤดูแล้งปี 2565

 

หากมองในมุมมองของเกษตรกรที่ประสบปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำ อาจจะมีเสียงร้องว่า "พอแล้ว"  แต่ความจริงหากมีพายุเข้ามา โดยปกติแล้ว เวลาเข้ามาช่วงเดือนตุลาคม จะมีลมตะวันออกเฉียงเหนือนำพายุมาที่จะกดพายุลงมาทางภาคใต้ของประเทศไทย คาดว่าหากเข้ามาน่าจะเข้าทางภาคใต้ของประเทศไทย โดยสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย 

 

 

ดร.ณัฐพล กล่าวว่า วันนี้ร่องฝนจะเคลื่อนตัวลง จึงทำให้ฝนยังไม่หมด อยู่ตามแนวภาคกลางตอนล่าง กรุงเทพฯ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี และภาคใต้ตอนบน อาทิ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี เป็นต้น ซึ่งเป็นฝนที่เกิดขึ้นจากแนวร่องฝนยังคงอยู่ถึงวันที่ 27-29 กันยายน 2564 ในส่วนภาคเหนือตอนบนและอีสาน ฝนจะเริ่มลดน้อยลง

 

สอดคล้อง ด้านเพจ เฟซบุ๊ก เตือนภัยพิบัติ วาตภัย ฝนฟ้า พายุ โพสต์จับตาพายุ จาก แบบจำลองGFS ผลการ Simulate IR-BRITHNESS ล่าสุด ชี้ชัด ว่าที่พายุ "ไลออนร็อก"  Lionrock มีแนวโน้มขึ้นฝั่งเวียดนามตอนกลาง ในช่วงค่ำของวันศุกร์ที่ 8 ตุลาคม นี้

 

โดยเส้นทางพายุ "ไลออนร็อก" จะเคลื่อนผ่านภาคอีสานตอนบนและภาคเหนือตอนบน ตามลำดับ ในช่วงระหว่างวันที่ 9-10 ตุลาคม นี้

 

"ลักษณะดังกล่าวจะทำให้บริเวณรอบจุดศูนย์กลางและบริเวณจุดศูนย์กลางที่พายุเคลื่อนผ่าน มีฝนตกหนักถึงหนักมาก กับมีลมกระโชกแรง (โดยเฉพาะภาคอีสานตอนบนด้านตะวันออก) ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้จุดศูนย์กลางตอนพายุ "ไลออนร็อก" ขึ้นฝั่งมากที่สุด"

 

ในช่วงดังกล่าวพบบริเวณความกดอากาศสูงกำลังอ่อน แผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศจีนตอนใต้ ส่วนตัวคาดว่าหากพายุ "ไลออนร็อก" มาจริงเส้นทางการเคลื่อนตัวของพายุ "ไลออนร็อก" อาจจะต่ำลง กว่านี้ ขอให้ระมัดระวังอันตรายจากปริมาณฝนที่จะตกสะสมในช่วงดังกล่าวนี้ไว้ด้วย

 

ทั้งนี้คาดว่า พายุ "ไลออนร็อก" จะก่อตัว ระหว่างในช่วงวันที่ 6-7 ตุลาคม นี้ บริเวณหัวเกาะลูซอนของประเทศฟิลิปปินส์ก่อนเคลื่อนลงทะเลจีนใต้ และจะพัฒนาตัวขึ้นเป็น พายุโซนร้อน-ไต้ฝุ่น ตามลำดับ

 

อย่างไรก็ตามผลลัพธ์จากแบบจำลองGFS ล่าสุดช่วงเที่ยงนี้ ยังคงเป็นแค่การคาดการณ์ระยะยาว "เท่านั้น" ซึ่งอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ โปรดติดตาม