พิษราคานํ้ามันฉุดศก.ไทย ส่งออกต้นทุนพุ่ง คาดราคาไปต่อหลังโอเปกคุมผลิต

06 ต.ค. 2564 | 14:00 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ต.ค. 2564 | 20:47 น.
1.1 k

เอกชนชี้ ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ฉุดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ กระทบต่อราคาสินค้า ต้นทุนผลิต และการส่งออก ฉุดรายได้การท่องเที่ยวหาย ด้านเกษตรกรชาวสวนปาล์มอัดยับมาตรการอุ้มดีเซลบี 6 ส่งผลต่อราคาปาล์มน้ำมันร่วง จี้รัฐทบทวน 14 ต.ค.นี้

 

สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลต่อซัพพลายน้ำมันดิบทั่วโลก สัปดาห์ก่อนจึงเห็นราคาน้ำมันพุ่งไปเกินกว่า 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 3 ปี

 

ประกอบกับการประชุมกลุ่มโอเปก พลัสเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ยังเข้มงวดต่อการเพิ่มกำลังการผลิต  โดยปรับเพิ่มกำลังการผลิตเพียง 4 แสนบาร์เรลต่อวันเท่านั้น ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบดูไบ ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 77.30 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลและมีแนวโน้มจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก

 

ผลกระทบดังกล่าวส่งผลมาถึงราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปในไทย โดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นน้ำมันที่ใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเกินกว่า 30 บาทต่อลิตรไปแล้ว

 

สุพัฒนพงษ์  พันธ์มีเชาว์

 

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเปิดเผยว่า ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจะมีผลต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลจำเป็นต้องเข้ามาดูแลราคาพลังงาน เพื่อไม่ให้เกิดภาระกับค่าครองชีพของประชาชนและผู้ประกอบการมากนัก ซึ่งการดูแลคงต้องติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดเป็นระยะ เพื่อมากำหนดมาตรการช่วยเหลือ

 

โดยเฉพาะการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ที่จะต้องมีมาตรการทั้งระยะสั้น และระยะกลาง เบื้องต้นจะดูแลราคาดีเซลในช่วงเดือนตุลาคมนี้ก่อน และระยะถัดไปหากราคาน้ำมันในตลาดโลกและราคาก๊าซหุงต้ม ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้อุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลและก๊าซหุงต้มไม่เพียงพอ ก็มีความจำเป็นต้องกู้เงินมาใช้ในการตรึงราคาพลังงานต่อไป

 

พิษราคานํ้ามันฉุดศก.ไทย ส่งออกต้นทุนพุ่ง คาดราคาไปต่อหลังโอเปกคุมผลิต

 

จับตาพุ่ง 90 ดอลล์ต่อบาร์เรล

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เผยว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับขึ้นในเวลานี้ที่ระดับ 78 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ถือว่าขึ้นเท่าตัว เมื่อเทียบกับปี 2563 จากเศรษฐกิจโลกกลับมาฟื้นตัว มีการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ มีการเดินทางเพิ่มขึ้นทั้งทั้งบก เรือ และอากาศ ทำให้มีความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อราคาน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

 

ชัยชาญ  เจริญสุข

 

“ราคาน้ำมันดิบหลังจากนี้ไปคาดว่าจะขึ้นสูงสุดในช่วง 80-90 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ซึ่งเวลานี้เองราคาน้ำมันที่เป็นอยู่ได้ส่งผลให้ต้นทุนหลายอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อใช้ในประเทศและส่งออก ที่ใช้น้ำมันในการเดินเครื่องผลิต เช่น โรงงานซิเมนต์ วัสดุก่อสร้าง โรงงานเหล็ก มีต้นทุนที่สูงขึ้น และราคาสินค้าจะปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงภาคการขนส่งสินค้า หรือโลจิสติกส์ต่าง ๆ ที่ต้องใช้น้ำมันต้องปรับขึ้นแน่นอน”

 

กระทบการส่งออก

นอกจากนี้ยังส่งผลให้ผู้ส่งออกหรือผู้นำเข้าต้องจ่ายเพิ่มค่าต้นทุนผันแปรจากราคาน้ำมัน (ค่า B.A.F) ที่สายเดินเรือจะปรับขึ้นอัตโนมัติตามต้นทุนน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นการซ้ำเติมจากค่าระวางเรือที่ทรงตัวในระดับสูงในขณะนี้ในทุกเส้นทาง และสายเดินเรือยังมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม อาทิ Peak Season Surcharge (PSS) จากที่ทุกประเทศโหมส่งออก และเร่งส่งมอบสินค้าช่วงปลายปี คาดจะยิ่งส่งผลให้ค่าระวางเรือช่วงเดือนพ.ย-ธ.ค.นี้ มีแนวโน้มสูงขึ้นไปอีก

 

พิษราคานํ้ามันฉุดศก.ไทย ส่งออกต้นทุนพุ่ง คาดราคาไปต่อหลังโอเปกคุมผลิต

 

อย่างไรก็ตาม ด้านมุมบวกจากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นก็ยังมี เช่น มีผลให้ราคาสินค้าที่ใช้วัตถุดิบเกี่ยวเนื่องจากน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น เช่น เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป และจะส่งออกได้เงินเข้าประเทศมากขึ้น แต่อีกด้านจะกระทบราคาน้ำมัน ราคาสินค้าในประเทศ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น การเปิดภาคบริการ ท่องเที่ยวที่ไทยมีแผนเปิดประเทศในเดือน พ.ย.นี้

 

รับเหมาโดนซ้ำเติม

นางสาวลิซ่า งามตระกูลพานิช นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ระบุว่า นอกจากอุตสาหกรรมก่อสร้างจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ความผันผวนราคาเหล็กปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี อีกทั้งสถานการณ์น้ำท่วมที่ไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้แล้ว ยังถูกซ้ำเติมจากราคาน้ำมันส่งผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่ง และเครื่องจักร ซึ่งขณะนี้สมาคมฯเฝ้าติดตามว่าจะรับมืออย่างไรหากยังปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง พร้อมทั้งมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาล

 

เกษตรกรห่วงราคาปาล์มตก

นายพันศักดิ์ จิตรรัตน์ ประธานคณะกรรมการด้านปาล์มน้ำมันและพืชพลังงาน สภาเกษตรกรแห่งชาติ และกรรมการในคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การที่กระทรวงพลังงานจะประกาศมาตรฐานของน้ำมันดีเซลใหม่จากบี 7 และบี 10 ให้เหลือเพียง ดีเซลบี 6 ตั้งแต่วันที่ 11-31 ตุลาคม 2564 เพื่อไม่ให้ราคาน้ำมันดีเซลเกิน 30 บาทต่อลิตรนั้น คงไม่ทำให้ราคาปาล์มลดลงมากนัก แต่หากลากยาวไปถึงธันวาคม 2564 มีปัญหาแน่นอน เพราะคาดผลผลิตปาล์มจะมีมาก จะเกิดสต๊อกล้นในประเทศ ส่งผลต่อราคาปาล์มน้ำมันร่วงลงมา ซึ่งปัญญาดังกล่าวจะนำไปหารือในที่ประชุม กนป. ในวันที่ 14 ตุลาคมนี้

 

พิษราคานํ้ามันฉุดศก.ไทย ส่งออกต้นทุนพุ่ง คาดราคาไปต่อหลังโอเปกคุมผลิต

 

นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กนป. กล่าวว่า ข้ออ้างในการลดมาดีเซลมาเป็นบี 6 เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายผู้บริโภค ไม่ต้องเติมน้ำมันเกิน 30 บาทต่อลิตร มองว่าเป็นเรื่อง ลับ ลวง พราง เมื่อพิจารณาน้ำมันดีเซลราคาปัจจุบัน 30 ต้นๆ ราคาบี 10 อยู่ที่ 28.29บาท เมื่อยกเลิก บี10 แล้วผลิตแค่บี 6 จะทำอย่างไรให้บี6 ราคาต่ำกว่า 30 บาท มีทางเดียว ก็คืองดหรือลดจำนวนเงินที่จะเก็บเงินเข้ากองทุนลง

 

“เมื่อราคาดีเซลไม่ถึง 30 บาทต่อลิตร ก็ไม่จำเป็นต้องนำเงินกองทุน มาใช้ชดเชยน้ำมันดีเซล แต่ถ้าราคาดีเซลเกิน 30 บาท รัฐจะนำเงินกองน้ำมันเข้าชดเชยทันที่ ใครได้คิดกันเอาเอง”

 

นายประกิต ประสิทธิ์ศุภผล กรรมการผู้จัดการ บริษัท พี.เค.มารีน เทรดดิ้ง จำกัด (บจก.) ผู้ประกอบการขนส่งทางเรือและท่าเทียบเรือ กล่าวว่า จากการยกเลิกบี 10 และ บี 7 เหลือแค่บี 6 ปริมาณคาดการณ์จะลดการใช้ปาล์มทะลายไม่น้อยกว่า 3.5 หมื่นตัน จากปริมาณการใช้ดีเซลที่วันละ 51 ล้านลิตร ส่วนอนาคตราคาขึ้นลง ไม่มีใครคาดเดาได้ เพราะขึ้นอยู่กับตลาดโลก ต้องไปวัดดวง

 

ประกิต  ประสิทธิ์ศุภผล

 

แท็กซี่ขอตรึงราคาเอ็นจีวี

นายวิฑูรย์ แนวพานิช นายกสมาคมการค้าเครือข่ายแท็กซี่ไทย เปิดเผยว่า ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบให้ราคาก๊าซเอ็นจีวี ปรับตัวสูงขึ้น จึงอยากให้ภาครัฐตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ เพื่อไม่ให้กระทบกับค่าครองชีพของประชาชน และไม่ให้มีผลต่อการปรับราคาก๊าซเอ็นจีขึ้นไป

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3720 วันที่ 7-9 ตุลาคม 2564