ค้าชายแดน ระนองโต 4.66%เมียนมาสั่งสินค้าเพิ่ม

06 ต.ค. 2564 | 11:17 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ต.ค. 2564 | 18:32 น.

ค้าชายแดนไทย-เมียนมา ด้านระนอง-เกาะสองเติบโตต่อเนื่อง คึกคักทั้งรายใหญ่-รายย่อย เดือน ก.ย. ยอด 1,767.68 ล้านบาท ขยายตัว 4.66% ชี้โควิด-19 และเหตุขัดแย้งการเมืองในเมียนมา ทำสินค้าขาดราคาพุ่ง ต้องสั่งนำเข้าเพิ่ม ผู้ค้าเปลี่ยนทิศจากด่านทางบกหันส่งผ่านระนองแทน

นางสาวทิพย์สุดา อินทรสุวรรณ พาณิชย์จังหวัดระนอง เปิดเผยว่า การค้าชายแดนไทย-เมียนมา ด้านจังหวัดระนองประจำเดือน ส.ค. 2564 เติบโตขึ้น ทั้งจากเดือนก่อนหน้า และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้วโดยมีมูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น 1,767.68 ล้านบาท เพิ่ม 78.66 ล้านบาท จากเดือน ก.ค. 2564 ที่มีมูลค่า 1,689.02 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการขยายตัว 4.66% และเพิ่มขึ้นถึง 878.14 ล้านบาทเมื่อเทียบเดือน ส.ค. 2563 ที่มีมูลค่าการค้าเพียง 889.54 ล้านบาท หรือโตขึ้น 98.72%

เมื่อแบ่งเป็นการส่งออกและนำเข้า ก็มีมูลค่าเพิ่มขึ้นทั้ง 2 ด้าน โดยมูลค่าการส่งออกเดือนส.ค. 2564 มีทั้งสิ้น 1,325.84 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 38.08 ล้านบาท จากเดือน ก.ค. 2564 ที่มีมูลค่า 1,287.76 ล้านบาท คิดเป็น 2.96% สินค้าส่งออกสำคัญคือ นํ้ามันเชื้อเพลิง-หล่อลื่น ท่อและหัวเจาะในงานขุดเจาะปูนซิเมนต์ เครื่องจักรกล อุปกรณ์ประมง เครื่องดื่มให้พลังงาน เป็นต้น

ค้าชายแดน ระนองโต 4.66%เมียนมาสั่งสินค้าเพิ่ม

ด้านการนำเข้า เดือนส.ค. มีมูลค่าทั้งสิ้น 441.84 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40.58 ล้านบาท จากเดือนก่อนที่มีมูลค่า 401.26 ล้านบาท เติบโต 10.11% สินค้านำเข้าหลักเป็นกลุ่มสินค้าประมงอาทิ สัตว์นํ้า อาหารทะเลแช่เย็นถ่านไม้ป่าเลน ตู้คอนเทนเนอร์ เป็นต้น

ด้านดุลการค้า เดือน ส.ค. 2564 ไทยเกินดุลการค้า 884.00 ล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อน 2.50 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.28 โดยเดือนก.ค. 2564 เกินดุลการค้า 886.50 ล้านบาท และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (ส.ค. 2563) ที่เกินดุลการค้าอยู่ 600.26 ล้านบาท ทำให้ยอดเกินดุลการค้าเพิ่มขึ้น 283.74 ล้านบาท คิดเป็น 47.27%

ค้าชายแดน ระนองโต 4.66%เมียนมาสั่งสินค้าเพิ่ม

ทั้งนี้ ภาพรวมการค้า ไทย-เมียนมา ด้านจังหวัดระนองในช่วงเดือน ส.ค. 2564 เติบโตทั้งการส่งออกและนำเข้า แม้มีสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งขณะนี้อนุญาตให้มีการนำเข้า–ส่งออกสินค้าและสินค้าผ่านแดน โดยอนุญาตให้มีคนประจำพาหนะ ประจำเรือสินค้าตามประเภทที่ได้รับอนุญาต และต้องผ่านการตรวจคัดกรองโรคติดเชื้อโควิด-19 จากพนักงานควบคุมโรคติดต่อแล้ว เท่านั้น

การแพร่ระบาดของโควิด-19 กลับส่งผลดีต่อบรรยากาศ การค้าชายแดนด้านระนอง ที่มีบรรยากาศที่คึกคักอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะเมื่อมีการขนส่งสินค้าประเภทต่างๆ มายังด่านท่าระนองเป็นจำนวนมาก อาทิ ปูนซิเมนต์ นํ้ามัน สินค้าอุปโภค-บริโภค ที่พบว่ามีการสั่งออเดอร์เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมอีก 2-3 เท่าตัว

ค้าชายแดน ระนองโต 4.66%เมียนมาสั่งสินค้าเพิ่ม

นอกจากนี้ปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศเมียนมา ส่งผลให้การขนส่งสินค้าทางบกเริ่มไม่ปลอดภัยจากการสู้รบ ทำให้พ่อค้าบางส่วนที่เคยใช้เส้นทางบกในการขนส่ง เปลี่ยนมาใช้การขนส่งทางเรือผ่านช่องทางระนองแทน ซึ่งมีความปลอดภัย อีกทั้งยังส่งได้ครั้งละจำนวนมาก จากปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมดจึงทำให้บรรยากาศด่านการค้าชายแดนด้าน จ.ระนองมีความคึกคักในลักษณะสวนกระแสสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ค้าชายแดน ระนองโต 4.66%เมียนมาสั่งสินค้าเพิ่ม
ด้านนายนิตย์ อุ่ยเต็กเค่งรองประธานหอการค้าจังหวัดระนอง เปิดเผยว่า ล่าสุดจากสถานการณ์ทหารเมียนมา ปะทะกับกองกำลังฝ่ายต่อต้าน และยกระดับความรุนแรงขึ้นในหลายพื้นที่ แม้ยังไม่เกิดเหตุรุนแรงในพื้นที่จังหวัดเกาะสอง ของเมียนมา แต่มีข่าวการจับกุมประชาชนที่สนับสนุนพรรค LND ว่ามีการเตรียมก่อเหตุ ซ่องสุมอาวุธ ส่งผลให้ทางการเมียนมาส่งทหารตำรวจเปิดปฎิบัติการเชิงรุกในพื้นที่ เพื่อจำกัดเสรีการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้าน

“จากสถานการณ์ดังกล่าวอาจจะส่งผลให้มีการหลบหนีการติดตามจับกุมจากเจ้าหน้าที่จังหวัดเกาะสอง เข้ามาในพื้นที่จ.ระนองเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะมีพฤติการณ์การหลบหนีเข้าเมืองต่างจากกลุ่มที่ลักลอบเข้ามาเพื่อเป็นแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมือง”

ค้าชายแดน ระนองโต 4.66%เมียนมาสั่งสินค้าเพิ่ม

รองประธานหอการค้าระนองกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังพบว่าในฝั่งเมียนมาเกิดภาวะสินค้าขาดแคลนและราคาปรับขึ้นสูง ทำให้มีคำสั่งซื้อสินค้าจากฝั่งเกาะสอง เพื่อสั่งเรือหางยาวจากฝั่งไทยขนไปส่งข้ามแดน จากการออกไปสำรวจการค้ารายย่อยส่งออกเกาะสอง ณ ท่าเรือสะพานปลาระนอง พบว่าผู้ค้ารายย่อยยังมีการสั่งซื้อและส่งออกสินค้าบริโภค คนขับเรือหางยาวและผู้ส่งสินค้ารับว่า ความต้องการสินค้าบริโภคประเภทอาหารกึ่งสำร็จรูปยังเป็นที่ต้องการจำนวนมาก จากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ควบคุมประชาชนห้ามออกจากบ้าน 24 ชั่วโมง ทำชาวบ้านต้องประหยัดการใช้จ่ายในครัวเรือน คาดว่าความต้องการสินค้าจากฝั่งไทยจะยังมีไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย 

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,720 วันที่ 7-9 ตุลาคม พ.ศ.2564