"บีทีเอส" ค้าน รฟม.ประมูลสายสีส้มรอบใหม่

24 ก.ย. 2564 | 20:46 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.ย. 2564 | 03:53 น.

"บีทีเอส" ค้าน รฟม.ประมูลสายสีส้มรอบใหม่ หากยึดเกณฑ์เทคนิคควบราคา เผยคดียังไม่สิ้นสุด หลังส่งหนังสือยื่น 7 หน่วยงานรัฐ ยันเกณฑ์เดิมถูกต้อง

รายงานข่าวจากบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สำหรับกรณีที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสได้ส่งหนังสือไปยัง 7 หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ถึงการการดำเนินการคัดเลือกโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่มีการแก้ไขหลักเกณฑ์การประเมินผู้ชนะการคัดเลือกโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และ ขัดมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)นั้น ทางบริษัทฯ ขอโต้แย้งและคัดค้าน หากคณะกรรมการคัดเลือกการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ยังมีการแก้ไขหลักเกณฑ์การประเมินผู้ชนะการคัดเลือก ด้วยการใช้คะแนนจากซองเทคนิคมาพิจารณาร่วมกับซองราคา เนื่องจากคดีที่ยื่นฟ้องการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะกรรมการคัดเลือกมาตรา36 รวมถึงเจ้าพนักงานที่ดำเนินกระบวนการคัดเลือกเอกชนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มจำนวน 7 คน ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองและยังไม่สิ้นสุด และศาลปกครองกลางได้เคยมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวว่ามิให้ใช้บังคับ เนื่องจากมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีบทบัญญัติตามกฎหมายมาตราใดกำหนดให้ดำเนินการดังเช่นว่านั้นไว้ บริษัทฯจึงหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นการดำเนินการโครงการนี้เป็นไปอย่างถูกต้อง มีความโปร่งใสและนำไปสู่การแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม ทำให้รัฐและประเทศชาติได้ประโยชน์สูงสุดต่อไป

ขณะเดียวกันโดยปกติหลักเกณฑ์การประเมินการคัดเลือกเอกชนให้ได้ผู้ชนะการคัดเลือกที่ถูกต้องนั้น รัฐต้องได้ผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินที่ดีที่สุด หรือมีการขอรับเงินสนับสนุนทางการเงินจากภาครัฐน้อยที่สุด เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562

ที่ผ่านมา บริษัทจึงได้ทำหนังสือแจ้งไปยัง 7 หน่วยงานรัฐว่า กระบวนการประกวดราคาของโครงการต้องเป็นเป็นตามมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ วันที่ 28 มกราคม 2563 และกระบวนการที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)ได้ดำเนินการประมูลเดิม (เกณฑ์ประมูลที่ต้องพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคก่อน หากผู้ยื่นข้อเสนอได้คะแนนด้านเทคนิคไม่น้อยกว่า 70% จึงจะได้รับการพิจารณาข้อเสนอด้านราคาต่อไป และใครเสนอราคาต่ำสุดก็จะเป็นผู้ชนะการประมูล) ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย และนำมาสู่การเสนอร่างประกาศเชิญชวน ต่อคณะกรรมการคัดเลือกเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ

 

 

 

สำหรับ 7 หน่วยงานที่บีทีเอสได้ส่งหนังสือนั้น ประกอบด้วย สำนักงบประมาณ, กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการคัดเลือก, กรรมการผู้แทนกระทรวงคมนาคมในคณะกรรมการคัดเลือก, กรรมการผู้แทนสำนักคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจในคณะกรรมการคัดเลือก, ประธานคณะกรรมการคัดเลือก, กรรมการผู้แทนสำนักอัยการสูงสุดในคณะกรรมการคัดเลือก และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคัดเลือก