ผ่านฉลุย! “คมนาคม” เคลียร์ปมสถานีอยุธยา ลุย “ไฮสปีดไทย-จีน”

24 ก.ย. 2564 | 13:33 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ก.ย. 2564 | 20:39 น.
516

“คมนาคม” จับมือ ก.วัฒนธรรม ถกปรับแบบสถานีอยุธยา ลดระดับสันรางลง 17 เมตร แก้ปมมรดกโลก เดินหน้าไฮสปีดไทย-จีน ชงครม.

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ภายหลังการร่วมหารือเพื่อพิจารณาแนวทางการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงสถานีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ของโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา) หรือไฮสปีดไทย-จีน โดยมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงคมนาคม ประกอบด้วย นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง และผู้แทนจาก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กรมการขนส่งทางราง และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ร่วมการหารือดังกล่าว

ผ่านฉลุย! “คมนาคม” เคลียร์ปมสถานีอยุธยา ลุย “ไฮสปีดไทย-จีน”

นายศักดิ์สยาม  กล่าวต่อว่า การหารือครั้งนี้ เป็นการหารือต่อเนื่องจากการประชุมเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564 เพื่อแก้ไขปัญหาการดำเนินการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยที่ประชุมได้พิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ซึ่งพบว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงได้ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่เพื่อลดข้อกังวลต่าง ๆ จะดำเนินการลดระดับสันรางลงเหลือ 17 เมตร รวมถึงเตรียมจัดทำรายงานผลกระทบต่อมรดกโลกทางวัฒนธรรม (Heritage Impact Assessment :HIA) เพื่อเสนอต่อศูนย์มรดกโลกที่กรุงปารีสต่อไป และจะกำหนดมาตรการจำกัดความสูงของอาคารรอบสถานี เช่น ในพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะออกระเบียบกำหนดความสูงไม่ให้เกินที่กำหนด และประสานองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นออกเทศบัญญัติควบคุมความสูงของอาคารโดยรอบสถานีต่อไป 

“ทั้งนี้ที่ประชุมมีข้อสั่งการให้กระทรวงคมนาคม ได้พิจารณาร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงวัฒนธรรมในประเด็นด้านกฎหมายในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ทราบว่าในพื้นที่โครงการก่อสร้างในปัจจุบันไม่ขัดต่อข้อกฎหมาย และข้อบังคับแต่อย่างใด  รวมทั้งนำความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงวัฒนธรรม เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแนวทางการดำเนินการของโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วง กรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา ต่อไป”