ชงครม.ไฟเขียว ต.ค.นี้ “ทางด่วนกะทู้-ป่าตอง” 1.4 หมื่นล้าน

18 ก.ย. 2564 | 09:30 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.ย. 2564 | 16:37 น.
1.8 k

ทางด่วนกะทู้-ป่าตอง 1.4 หมื่นล้านบาทคืบหน้ากทพ. ลุ้นสคร.ชงครม.ไฟเขียวภายในเดือนต.ค.นี้ เล็งตั้งบอร์ดม.36 คลอดทีโออาร์ เตรียมเปิดประมูลช่วงมค.-ก.พ.65 จ่อลงนามสัญญาผู้รับจ้าง- ลงพื้นที่เวนคืนก่อสร้างปี 66 คาดปีแรกผู้ใช้บริการทางด่วนแตะ 60,000 คันต่อวัน

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.)เร่งผลักดันโครงการทางด่วนสาย กะทู้-ป่าตอง ถือเป็นเมกะโปรเจคต์แก้ปัญหาจราจรติดขัดในจังหวัดภูเก็ต รวมทั้งช่วยกระตุ้นด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยวได้ดีในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ถือเป็นทางด่วนสายแรกของประเทศไทยที่มีอุโมงค์ และเป็นทางด่วนสายแรกของประเทศไทยที่เปิดให้รถจักรยานยนต์วิ่งได้ ซึ่งถูกออกแบบมาให้ใช้เป็นเส้นทางอพยพกรณีเกิดภัยพิบัติ

 

 

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการทางด่วนสาย กะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต ระยะทาง 3.98 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 14,470 ล้านบาท หลังจากกทพ.ได้ดำเนินการศึกษาโครงการแล้วเสร็จ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และสภาพัฒนาการเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกัน คาดว่าจะเสนอโครงการต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เร็วๆนี้ หากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบแล้ว หลังจากนั้นกทพ.จะตั้งคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เพื่อจัดทำร่างหลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชน(RFP)

ชงครม.ไฟเขียว ต.ค.นี้ “ทางด่วนกะทู้-ป่าตอง” 1.4 หมื่นล้าน

“ถึงแม้ว่าช่วงนี้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ต่อเนื่อง เชื่อว่าไม่กระทบต่อโครงการฯ เนื่องจากเราเร่งดำเนินการโครงการฯ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้รูปแบบการแปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP net cost สัมปทาน 35 ปี รวมเวลาก่อสร้าง ขณะเดียวกันที่ผ่านมาโครงการฯได้ผ่านการขออนุญาตพื้นที่จากกรมป่าไม้และอนุมัติรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แล้วเช่นกัน"

 

 

 

รายงานข่าวจากกทพ. กล่าวต่อว่า หลังจากสคร.พิจารณาเห็นชอบและนำเสนอโครงการฯต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เบื้องต้น กทพ.จะดำเนินการจัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาเวนคนที่ดิน คาดว่าจะดำเนินการเสนอต่อครม.ในระยะเวลาใกล้เคียงกัน ซึ่งเป็นงบประมาณเวนคืนที่ดิน วงเงิน 5,792 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง วงเงิน 8,678 ล้านบาท พื้นที่เวนคืน จำนวน 192 แปลง สิ่งปลูกสร้าง จำนวน 221 หลัง ผู้ถูกเวนคืนที่ดิน จำนวน 104 ราย

ส่วนการเปิดประมูลโครงการฯ ดังกล่าว คาดว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะพิจารณาเห็นชอบภายในเดือนตุลาคมนี้ หลังจากนั้นกทพ.จะดำเนินการตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เพื่อจัดทำร่างเอกสารประกาสเชิญชวนคัดเลือกเอกชน (RFP) และประเมินความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding) โดยใช้ระยะเวลา 3 เดือน จะเริ่มเปิดประมูลได้ภายในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2565 คาดว่าจะใช้ระยะเวลากระบวนการประมูลราว 1 ปี และลงนามสัญญาผู้รับจ้าง และเจรจาเข้าสำรวจพื้นที่เพื่อเวนคืนที่ดินภายในปี 2566 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในช่วงกลางปี 2566 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี และเปิดให้บริการภายในเดือนมิถุนายน 2570

 

 

 

“การก่อสร้างโครงการฯ นี้พบว่าจากการเปิดรับฟังภาคเอกชน (Market Sounding) ในช่วงที่ผ่านมามีเอกชนหลายบริษัทให้ความสนใจร่วมลงทุน เนื่องจากผลตอบแทนทางการเงิน (IRR) อยู่ที่ 8.5% และอัตราผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ (EIRR) 20%”

 

 

 

สำหรับอัตราค่าผ่านทางของโครงการทางด่วนสาย กะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต ระยะทาง 3.98 กิโลเมตร (กม.) จะมีทางและอุโมงค์ทางด่วนขนาดใหญ่ 2 ฝั่งขาไปและขากลับ ฝั่งละ 4 ช่องจราจร แบ่งเป็น รถยนต์ 2 ช่อง และรถจักรยานยนต์ 2 ช่องจราจร โดยจัดเก็บค่าผ่านทางรถจักรยานยนต์ 15 บาท ,รถ 4 ล้อ 40 บาท ,รถ 6-10 ล้อ 80 บาท และมากกว่า 10 ล้อ 125 บาท ทั้งนี้กทพ.คาดการณ์ผู้ใช้บริการทางด่วนเส้นทางดังกล่าวหากมีการเปิดให้บริการในปีแรก อยู่ที่ 60,000 คันต่อวัน แบ่งเป็น ผู้ใช้บริการด้วยรถยนต์ราว 30,000 คันต่อวัน และผู้ใช้บริการด้วยจักรยานยนต์ราว 30,000 คันต่อวัน