“กรมราง” เคลียร์ปมเลิกตั๋วเดือน BTSสวน“โควิด”ทำพฤติกรรมเปลี่ยน

15 ก.ย. 2564 | 15:42 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.ย. 2564 | 22:54 น.

กรมขนส่งทางราง ร่อนหนังสือเคลียร์ปม บีทีเอสยกเลิกตั๋วเที่ยวรายเดือนรถไฟฟ้าBTS 30ก.ย. นี้หวั่นกระทบค่าครองชีพประชาชน ด้านบีทีเอสยันใช้แคมเปญมา15ปี โควิด-19 มาพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน

ที่ผ่านมาพบว่าระบบขนส่งสาธารณะทางรางอย่างรถไฟฟ้าบีทีเอสและรถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) จะแข่งขันกันออกโปรโมชั่นเที่ยวเดินทางอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นให้ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าหันมาเดินทางในเส้นทางเหล่านี้กันมากขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดในรอบนี้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจหลายแห่ง โดยเฉพาะธุรกิจระบบขนส่งทางราง เนื่องจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกทั้งมาตรการของภาครัฐที่เข้มงวดและกำหนดระยะเวลาการเดินทางระหว่างวันที่จำกัด ทำให้ผู้ใช้บริการเดินทางโดยรถไฟฟ้าน้อยลง 

 

 

ล่าสุดกลายเป็นกระแสของบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส หลังจากออกประกาศสิ้นสุดการจำหน่ายโปรโมชั่นเที่ยวเดินทาง 30 วัน ทุกประเภท โดยผู้โดยสารสามารถซื้อและเติมเที่ยวเดินทาง ได้จนถึงวันที่ 30 กันยายนนี้ เป็นวันสุดท้าย ขณะเดียวกันบัตรโดยสารที่มีเที่ยวเดินทางคงเหลือ สามารถใช้เดินทางได้จนกว่าเที่ยวเดินทางจะหมด หรือเที่ยวเดินทางหมดอายุการใช้งานอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น ล่าสุดผู้ใช้บริการบางส่วนกลับไม่เห็นด้วยในการยกเลิกโปรโมชั่นเที่ยวเดินทางแบบรายเดือน และมองว่าเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค โดยผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ต้องการให้ทางบีทีเอสกลับไปทบทวนแผนการยกเลิกเที่ยวเดินทางดังกล่าวและกำหนดราคาค่าโดยสารที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคเพื่อผู้ใช้บริการสามารถวางแผนการเดินทางและกลับมาใช้บริการได้อีกครั้ง 

 

 

รายงานข่าวจากกรมการขนส่งทางราง(ขร.) เปิดเผยว่า ขณะนี้นายกิตติพันธ์ ปานจันทร์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง ในฐานะเป็นหน่วยงานกำกับดูแลระบบราง จะส่งหนังสือไปยัง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสภายในสัปดาห์นี้ เพื่อขอให้บริษัทชี้แจงถึงเหตุผลและความจำเป็นในการออกประกาศแจ้งสิ้นสุดโปรโมชั่นเที่ยวเดินทาง 30 วัน หรือบัตรโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสแบบรายเดือน เนื่องจากมองว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชนโดยตรง โดยเฉพาะคนที่เลือกใช้บริการตั๋วรายเดือนส่วนใหญ่ คือคนที่เดินทางบ่อย ถือว่า ค่าโดยสารบีทีเอสเป็นส่วนหนึ่งในรายจ่ายประจำที่ต้องจ่าย หากมีการปรับขึ้นราคาก็อาจกระทบค่าครองชีพโดยตรง ในขณะที่ปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่ประสบกับภาวะยากลำบากในการเดินทางจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อยู่แล้ว

 

 

“กรม ต้องการให้บีทีเอสชี้แจงเหตุผลของการยกเลิกโปรโมชั่นตั๋วรายเดือนว่า เพราะอะไรและมีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหนกรณียกเลิกโปรโมชั่นดังกล่าว รวมทั้งขอให้ชี้แจงรายละเอียดผลกระทบด้านต้นทุนของบริษัทด้วยว่ากระทบอย่างไรกับข้ออ้างที่ระบุว่าเป็นเพราะความไม่แน่นอนเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้โดยสารไม่สามารถวางแผนการเดินทางล่วงหน้าได้นานแบบเมื่อก่อน ซึ่งจะนำข้อมูลมาวิเคราะห์ว่าการยกเลิกโปรสมเหตุสมผลหรือไม่ แม้ ขร.จะไม่มีอำนาจบังคับให้บีทีเอสกลับมาใช้โปรโมชั่นเที่ยวเดินทางรายเดือน แต่หากการยกเลิกไม่สมเหตุสมผลกระทบค่าครองชีพคส่วนใหญ่ ก็อาจจะขอความร่วมมือให้ บีทีเอสขยายโปรโมชั่นเที่ยวเดินทางรายเดือนออกไปก่อนในช่วงสถานการณ์โควิด-19”

“กรมราง” เคลียร์ปมเลิกตั๋วเดือน BTSสวน“โควิด”ทำพฤติกรรมเปลี่ยน

ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน ขร. ไม่มีอำนาจบังคับให้ บีทีเอสปรับเปลี่ยนการกำหนดโปรโมชั่นของบัตรโดยสารได้ เนื่องจากการเดินรถและการจัดเก็บค่าโดยสาร เป็นไปตามสัญญาสัมปทาน ที่ บีทีเอส ในฐานะผู้รับสัมปทาน ลงนามร่วมกับ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของสัมปทาน โดยในสัญญาสัมปทานดังกล่าวไม่ได้มีการบังคับให้ บีทีเอสต้องมีการจำหน่ายตั๋วโดยสารหลากหลายรูปแบบ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชน แต่ใน กฎหมาย กรมรางฉบับใหม่ที่รอการประกาศบังคับใช้คาดว่าช่วงปลายปีนี้ จะมีการกำหนดหลักเกณฑ์การการกำหนดค่าโดยสารไว้ชัดเจนว่าจะต้อง มีทางเลือกที่หลากหลายให้กับผู้โดยสาร โดยเฉพาะผู้โดยสารกลุ่มเฉพาะเช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ จะต้องมีการกำหนดอัตราค่าโดยสารให้สอดคล้องและเหมาะสมเป็นกรณีพิเศษซึ่งจะมีอัตราที่ถูกกว่าประชาชนปกติ

 

 

 

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี กล่าวว่า บีทีเอสเตรียมยกเลิกโปรโมชั่นบัตรโดยสารรายเดือนในวันที่ 30 ก.ย.นี้ เนื่องจากเกิดจากการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ขณะเดียวกันยังมีความไม่แน่นอนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ผู้โดยสารใช้งานบัตรโดยสารดังกล่าวได้ไม่คุ้มค่า 

 

 

 

“โปรโมชั่นตั๋วรายเดือนบีทีเอสเราใช้มา 15 ปีแล้ว ซึ่งปัจจุบันก็ต้องยอมรับว่าไม่สอดคล้องต่อพฤติกรรมผู้บริโภคส่วนใหญ่ เพราะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายการทำงานเป็นทำงานที่บ้าน work from home การใช้งานบัตรประเภทนี้จึงไม่ตอบโจทย์เหมือนเดิม บีทีเอสเรายืนยันว่าการยกเลิกโปรโมชั่นนี้ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคส่วนใหญ่มาแล้ว”

ทั้งนี้บีทีเอสไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงราคาค่าโดยสาร โดยมีกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เรียกเก็บในเส้นทางสัมปทาน 23.5 กิโลเมตร จากสถานีหมอชิตไป สถานีอ่อนนุช และจากสถานีสนามกีฬาแห่งชาติไปสถานีสะพานตากสิน รวมส่วนต่อขยายจากสถานีสะพานตากสิน ถึงสถานีวงเวียนใหญ่ ยังคงอยู่ในอัตรา 16-44 บาท

 

 

 

อย่างไรก็ตามผู้โดยสารสามารถใช้บัตรโดยสารใบเดิมเพื่อเติมเงิน และเดินทางได้ตามปกติ ทั้งบัตรสำหรับบุคคลทั่วไป และบัตรสำหรับนักเรียน นักศึกษา ในส่วนของบัตรสำหรับผู้สูงอายุ ยังคงได้รับโปรโมชั่นส่วนลดครึ่งราคาจากอัตราค่าโดยสารที่เรียกเก็บในอัตราเดิม

 

 

หากท้ายที่สุดแล้วบีทีเอสยืนยันคำเดิมที่จะยกเลิกโปรโมชั่นเที่ยวเดินทางแบบรายเดือนคงต้องประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถวางแผนการเดินทางล่วงหน้าได้ไม่มีสะดุด