“บิ๊กป้อม” จี้ กอนช.กางแผนป้องกันน้ำท่วมใหญ่เมืองอุบลฯ

13 ก.ย. 2564 | 18:03 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.ย. 2564 | 01:14 น.

“บิ๊กป้อม” สร้างความมั่นใจประชาชนต่อแผนรัฐรับมือน้ำหลาก สั่ง เลขาฯ สทนช.ลงพื้นที่ จ.อุบลฯ ลุยตรวจความพร้อมแผนจัดการน้ำ-จราจรน้ำชี-มูล ป้องกันน้ำหลากท่วมอีสาน ให้ตั้งการ์ดสูงรับมือหากเกิดวิกฤติสุด

 

 ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และแนวทางการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำชี และแม่น้ำมูล บริเวณสะพานเสรีประชำธิปไตย (M7) อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี โดยมีผู้แทนกรมชลประทานเสนอแนวทางการป้องกันปัญหาน้ำท่วมและการดำเนินการตามมาตรการรับมือฤดูฝนว่า ในการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ กอนช.เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีได้กำชับกระทรวง และหน่วยงานด้านน้ำที่เกี่ยวข้องบูรณาการการวางแผนป้องกันน้ำหลาก น้ำท่วมในช่วงปลายฤดูฝนนี้อย่างเคร่งครัด

 

รวมถึงเน้นย้ำการเตรียมพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือประจำจุดเสี่ยงน้ำท่วมล่วงหน้า โดยเฉพาะ จ.อุบลราชการธานีที่เคยเกิดน้ำท่วมหนักเมื่อปี 2562 จากอิทธิพลของพายุโพดุลและพายุคาจิกิ  ซึ่งแม้ว่าขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณการเกิดพายุในบริเวณดังกล่าว แต่จากสถานการณ์ฝนตกเพิ่มขึ้นหลายพื้นที่จากอิทธิพลของพายุ “โกนเซิน”ก็ประมาทไม่ได้ เนื่องจาก จ.อุบลฯ เป็นจุดที่มวลน้ำจากแม่น้ำชีและแม่น้ำมูลไหลมารวมกัน

 

“บิ๊กป้อม” จี้ กอนช.กางแผนป้องกันน้ำท่วมใหญ่เมืองอุบลฯ

 

ทั้งนี้ได้เน้นย้ำหน่วยงานเกี่ยวข้องพิจารณาแนวทางที่ สทนช.ได้เสนอแนะให้มีการการเฝ้าระวังพื้นที่ที่มีการไหลย้อนของแม่น้ำมูลตามลำน้ำสาขาฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก การติดตามข้อมูลฝน นอกเหนือจากสถานีในเขตจังหวัดอุบลราชธานี ควรครอบคลุมพื้นที่ต้นน้ำที่ไหลลงมูลล่างและในพื้นที่มูลล่าง และเฝ้าระวังในกรณีร่องมรสุมในพื้นที่หลายวันและพื้นที่ฝนตกเป็นพื้นที่กว้างขวาง และในกรณีพายุพัดผ่าน รวมทั้งคาดการณ์ระดับน้ำ เพื่อใช้ในการเตือนภัย การเตรียมความพร้อม การอพยพ ประชาชนด้วย 

 

“บิ๊กป้อม” จี้ กอนช.กางแผนป้องกันน้ำท่วมใหญ่เมืองอุบลฯ

 

อย่างไรก็ดีจากการติดตามสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำมูลตอนล่าง จ.อุบลราชธานี ซึ่งมีเขื่อนสิรินธร ปริมาณน้ำ 1,303 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 66 ขณะที่สถานี M7 ปัจจุบันมีระดับน้ำยังอยู่ในระดับปกติ 3.36 ม.รทก. (ตลิ่ง 7.0 ม.) ในภาพรวมถือว่าสถานการณ์ยังปกติยังมีพื้นที่ที่สามารถรองรับปริมาณน้ำในฤดูฝนนี้ได้อีกมาก ซึ่งกรมชลประทานได้วางแผนเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ก่อนน้ำมา แผนเชิญเหตุในภาวะฉุกเฉิน และมาตรการฟื้นฟูหลังน้ำลด ตั้งแต่พื้นที่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอุทกภัยในพื้นที่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด รวมทั้งเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือและกำลังคนที่พร้อมจะเข้าไปให้การช่วยเหลือบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำให้กับพี่น้องประชาชนอย่างเต็มศักยภาพ  

 

“บิ๊กป้อม” จี้ กอนช.กางแผนป้องกันน้ำท่วมใหญ่เมืองอุบลฯ

 

นอกจากนี้รวมถึงทำงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่บริหารจัดการน้ำและจัดจราจรน้ำชี-มูลฤดูฝน ปี 2564 ไว้ 2 กรณี ได้แก่ 1.กรณีหากเกิดน้ำหลากในพื้นที่ลุ่มน้ำยัง (ตอนล่าง) เขื่อนยโสธร จะช่วยเร่งระบายน้ำเพิ่มเป็น 1.5-2 เท่าของปริมาณน้ำที่ไหลผ่านสถานีวัดน้ำท่าแม่น้ำชี อ.ทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด และสถานีวัดน้ำแม่น้ำยัง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด รวมกัน ณ ช่วงเวลาน้ำหลาก โดยไม่ให้มีผลกระทบกับพื้นที่ท้ายเขื่อนยโสธร-ธาตุน้อย-ลำน้ำมูล หากเกิดกรณีที่แม่น้ำชีตอนล่าง และแม่น้ำมูลน้ำ มีปริมาณน้ำมาก เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำปาวและเขื่อนในแม่น้ำชีทั้ง 4 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนชนบท, เขื่อนมหาสารคาม, เขื่อนวังยาง, เขื่อนร้อยเอ็ด จะลดการระบายน้ำและหน่วงชะลอน้ำ เพื่อช่วยแม่น้ำชีตอนล่างและแม่น้ำมูล ตามศักยภาพสูงสุดที่จะหน่วงชะลอน้ำได้ 

 

หากเป็นกรณีที่ 2 น้ำน้อย เขื่อนอุบลรัตน์และเขื่อนลำปาวจะระบายน้ำช่วยสนับสนุนพื้นที่ชีตอนล่าง ซึ่งเขื่อนอุบลรัตน์  มีแผนการระบายน้ำ ฤดูฝน ปี 2564 รวม 1,812 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันเขื่อนอุบลรัตน์ระบายน้ำวันละ 10.05 ล้าน ลบ.ม. เพื่อสนับสนุนพื้นที่การเกษตรในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวายและเติมน้ำในแม่น้ำชีตอนกลาง-ตอนล่าง 

 

“บิ๊กป้อม” จี้ กอนช.กางแผนป้องกันน้ำท่วมใหญ่เมืองอุบลฯ

 

“สทนช.ได้เสนอแนวทางการบริหารจัดการน้ำหลากในเขตผังน้ำมูลซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จปลายเดือนนี้ เพื่อให้หน่วยงานเกี่ยวข้องนำไปขับเคลื่อนสู่การปัญหาเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้อย่างยั่งยืน อาทิ  การประเมินระยะเวลาการเดินทางของน้ำตามลำน้ำเพื่อคาดการณ์ และเตือนภัยระดับและปริมาณน้ำ การผันน้ำออกจากลำน้ำหลักไปยังลำน้ำข้างเคียง เมื่อปริมาณน้ำหลากมากกว่าความสามารถในการระบายน้ำด้านท้ายน้ำหลากเมื่อน้ำเดินทางมาถึงแม่น้ำมูลสายหลัก  รวมถึงการผันน้ำเข้าไปยังพื้นที่น้ำนองที่มีอยู่ 2 ฝั่งของลำน้ำมูลสายหลัก หรือก่อสร้างแนวผันน้ำเพิ่มเติมในบริเวณชุมชนที่สำคัญบริเวณแม่น้ำมูลตอนล่าง เพื่อเพิ่มเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำ พัฒนาพื้นที่ลุ่มต่ำ (แก้มลิงธรรมชาติ) เป็นพื้นที่น้ำนอง เพื่อบริหารจัดการร่วมกับเขื่อนระบายน้ำในแม่น้ำมูลได้ เป็นต้น” ดร.สมเกียรติ กล่าว