ทุ่ม 796 ล้าน ขยายถนน 4 เลน สายทล.202-ร้อยเอ็ด บูมขนส่งแดนอีสาน

13 ก.ย. 2564 | 13:46 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.ย. 2564 | 20:55 น.
1.9 k

ทล.เดินหน้าขยายถนน 4 ช่องจราจร สายทล.202 ตอน บ.เมืองเตา - อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด 796 ล้านบาท หวังเสริมศักยภาพด้านคมนาคมขนส่งโลจิสติกส์ภาคอีสาน

นายสราวุธ  ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า ทล. โดย สำนักก่อสร้างทางที่ 2 ดำเนินการก่อสร้างขยายทางหลวงหมายเลข 202  สาย อ.พยัคฆภูมิพิสัย – อ. เกษตรวิสัย  ตอน บ.เมืองเตา – อ. เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด ระยะทาง 15.6 กิโลเมตร จำนวน 4 ช่องจราจรแล้วเสร็จ  งบประมาณ 796,296,000 บาท  เนื่องจากถนนเส้นทางดังกล่าวมีผู้ใช้เส้นทางสายนี้เป็นจำนวนมากและมีปริมาณการจราจรที่หนาแน่นเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี ทำให้เกิดปัญหาจราจรติดขัดเพราะมีช่องจราจรขนาด 2 ช่องจราจรเท่านั้น

ทุ่ม 796 ล้าน ขยายถนน 4 เลน สายทล.202-ร้อยเอ็ด บูมขนส่งแดนอีสาน

สำหรับทางหลวงหมายเลข 202 เป็นทางหลวงสายสำคัญในการเดินทางของภาคอิสาน  ทางหลวงสายนี้มีจุดเริ่มต้นที่ แยกทางหลวงหมายเลข 201 บริเวณสี่แยกโรงต้ม อ.เมือง จ.ชัยภูมิ ผ่านพื้นที่ จ.นครราชสีมา จ.บุรีรัมย์  จ.มหาสารคาม จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร จ.อำนาจเจริญ สิ้นสุดที่ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี  ระยะทางรวมทั้งหมด 387 กิโลเมตร ปัจจุบันได้ก่อสร้างแล้วเสร็จบางส่วนในพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด ระยะทาง 15.6 กิโลเมตร  ระหว่าง กม.162+000 – กม.164+024 , กม.165+411 – กม.167+300 และ กม.172+000 – กม.183+772  โดยก่อสร้างเป็นมาตรฐานทางชั้นพิเศษ 4 ช่องจราจร (ไป-กลับ)  ผิวทางและไหล่ทางเป็นแอสฟัลต์คอนกรีต   ผิวจราจรกว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางด้านในกว้าง 1.50 เมตร ส่วนไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2.50 เมตร พร้อมปรับปรุงเกาะกลาง มีการก่อสร้างสะพานเพื่อให้รถขนาดเล็กสามารถลอดกลับใต้สะพานได้ จำนวน 2 แห่ง และก่อสร้างสะพานข้ามคลอง จำนวน 5 แห่ง พร้อมติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างบนทางหลวง

ทุ่ม 796 ล้าน ขยายถนน 4 เลน สายทล.202-ร้อยเอ็ด บูมขนส่งแดนอีสาน

ขณะเดียวกัน ทล.เล็งเห็นความสำคัญจึงได้ปรับปรุงขยายทางหลวงสายดังกล่าวในส่วนที่เหลือ ขณะนี้มีส่วนที่อยู่ในขั้นตอนการออกแบบรายละเอียดและเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณเป็นระยะทาง 81 กิโลเมตร  และอยู่ระหว่างดำเนินโครงการก่อสร้างอีกระยะทาง 135.4 กิโลเมตร  ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมฯ 380 กิโลเมตร  ที่ผ่านมากรมได้ก่อสร้างขยายเป็น 4 ช่องจราจรแล้วเสร็จ 148 กิโลเมตร   

 

 


อย่างไรก็ตามเมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ระหว่างจังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร จังหวัดอำนาจเจริญ และจังหวัดอุบลราชธานี บรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด เพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายการคมนาคมขนส่งให้มีความสะดวกรวดเร็วและความปลอดภัย สามารถรองรับปริมาณจราจรที่เพิ่มขึ้นในอนาคต  ช่วยลดอุบัติเหตุในการเดินทางบนถนน ยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนในพื้นที่และพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ