คืบหน้า "ขยายสนามบินดอนเมืองเฟส3” ถึงไหนแล้ว

12 ก.ย. 2564 | 17:19 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.ย. 2564 | 00:19 น.
1.7 k

ทอท.เล็งปรับแผนก่อสร้างดอนเมืองเฟส3 ลั่นทำแผนดีเล เตรียมเปิดประมูลหาผู้รับจ้างออกแบบภายในเดือน ธ.ค.นี้ คาดศึกษาออกแบบเสร็จ 1 ปี เร่งชงสภาพัฒน์-ครม.ไฟเขียว

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 วงเงินประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาท  ปัจจุบันบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) หรือ ทอท. อยู่ระหว่างเร่งทบทวนปรับแผนการก่อสร้างเล็กน้อย เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ต้องดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing)  จึงต้องปรับการใช้สอยงานบางส่วนภายในอาคารผู้โดยสาร รวมทั้งอาจจะนำโครงการก่อสร้างหลุมจอดอากาศยานทางด้านทิศเหนือของท่าอากาศยานดอนเมืองเพิ่มเติม 12 หลุมจอดเข้ามาร่วมในโครงการนี้ด้วย  คาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปเรื่องการปรับแผน และวงเงินที่ใช้ก่อสร้างที่ชัดเจนในเร็วๆ นี้ 

 ขณะเดียวกันหลังจากนั้น ทอท. จะจัดทำรายละเอียดเงื่อนไขการประกวดราคา (ทีโออาร์) เพื่อหาผู้รับจ้างออกแบบรายละเอียด (Detail Design) การก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง เฟส 3 คาดว่าน่าจะได้ผู้ชนะประมูลภายในเดือน ธ.ค.64 และจะใช้เวลาออกแบบรายละเอียดก่อสร้างประมาณ 1 ปี จากนั้นจึงจะเสนอโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง เฟส 3 ให้สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ(สศช.) หรือสภาพัฒน์ และคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาเห็นชอบต่อไป  หาก ครม. เห็นชอบโครงการฯ แล้ว จึงจะเข้าสู่ขั้นตอนการเปิดประมูลหาผู้รับจ้างในการก่อสร้าง 

 

 

“ยอมรับว่าการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง เฟส 3 จะล่าช้ากว่าแผนที่วางไว้ประมาณ 1 ปี เดิมมีแผนจะก่อสร้างประมาณต้นปี 65 ใช้เวลาการก่อสร้าง 3 ปี แล้วเสร็จ และเปิดให้บริการประมาณปี 68 แต่ยืนยันว่าความล่าช้าที่เกิดขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อการให้บริการผู้โดยสาร เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังรุนแรง ผู้โดยสารยังใช้บริการท่าอากาศยานดอนเมืองค่อนข้างน้อย และกว่าผู้โดยสารจะกลับมาสู่สภาวะปกติ คาดว่าจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3-4 ปี ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง เฟส 3 จะก่อสร้างแล้วเสร็จพอดี”  
 

 สำหรับแผนงานเดิมโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง เฟสที่ 3 ประกอบด้วย 1.งานรื้ออาคารผู้โดยสารภายในประเทศ อาคารเทียบเครื่องบินหมายเลข 6 เดิม เพื่อก่อสร้างเป็นอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 (เทอร์มินัล3) 2.ระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (เอพีเอ็ม) 3. การปรับปรุงคลังสินค้า 4.ขยายระบบจราจรเป็นถนน 6 เลน ทั้งทางราบ และยกระดับ เพื่อรองรับปริมาณรถที่เพิ่มขึ้น  5. ก่อสร้างอาคารสำนักงาน และ 6.ปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค 

 

 


ทั้งนี้พบว่าในปัจจุบันผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานดอนเมืองเป็น 0 เนื่องจากสายการบินต่างๆ หยุดทำการบิน ตามประกาศของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ที่ให้สายการบินงดทำการบินในพื้นที่จังหวัดควบคุมและเข้มงวดสูงสุด (พื้นที่สีแดง) 29 จังหวัด ซึ่งรวมถึงท่าอากาศยานดอนเมือง ที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ด้วย ทั้งนี้หาก กพท. อนุญาตให้สายการบินเปิดทำการบินได้ปกติแล้ว คาดว่าผู้โดยสารคงยังไม่ถึงวันละ 1 หมื่นคน จากปกติก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผู้โดยสารจะอยู่ที่ประมาณ 1.2 แสนคนต่อวัน