ทย.เปิดประมูล เทอมินัล-สนามบินนราธิวาส ฝ่าโควิด

08 ก.ย. 2564 | 15:02 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.ย. 2564 | 22:09 น.

ทย.เดินหน้าเปิดประมูลขยายเทอมินัล สนามบินนราธิวาส 800ล้านบาท เตรียมดึงเอกชนยื่นข้อเสนอ 28 ก.ย.นี้ เชื่อมเทอมินัลหลังเก่า รับผู้โดยสาร 1.7 ล้านคนต่อปี เล็งศึกษสนามบินเพิ่ม 4 แห่ง

ที่ผ่านมาคมนาคมเร่งผลักดันเมกะโปรเจคต์หลายโครงการเพื่อสนับสนุนด้านการคมนาคมขนส่งอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการพัฒนาสนามบินหลายแห่ง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว รองรับอัตราการเติบโตของจำนวนผู้โดยสารและจำนวนเที่ยวบินเพิ่มมากขึ้น ล่าสุดทย.ได้เปิดประมูลสร้างเทอมินัล สนามบินราธิวาส ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางการจราจรทางอากาศในอนาคต 

 

 

 นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสาร (เทอร์มินัล) หลังใหม่และสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ท่าอากาศยานนราธิวาส ปัจจุบัน ทย.อยู่ระหว่างเปิดขายซองเอกสารประกวดราคาในโครงการงานก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสาร (เทอร์มินัล) หลังใหม่และสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ท่าอากาศยานนราธิวาส วงเงินงบประมาณราว 800 ล้านบาท เบื้องต้นกำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอในวันที่ 28 กันยายนนี้ โดย ทย.จะดำเนินการการเปิดซองพิจารณาข้อเสนอ และประกาศเอกชนผู้ชนะการประกวดราคาในวันเดียวกัน 

ขณะเดียวกันโครงการก่อสร้างเทอร์มินัลหลังใหม่นี้ จะเป็นการก่อสร้างอาคาร 2 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยรวมประมาณ 1.2 หมื่นตารางเมตร (ตร.ม.) เชื่อมต่อกับอาคารที่พักผู้โดยสารหลังเดิม รวมทั้งจะปรับปรุงอาคารที่พักหลังเดิมเป็นสำนักงานท่าอากาศยานและพื้นที่รองรับผู้โดยสารในช่วงพิธีฮัจญ์ ซึ่งมีพื้นที่ใช้สอบราว 3,000 ตารางเมตร(ตร.ม) รวมทั้งทย.จะดำเนินการก่อสร้างอาคารประกอบอื่นๆ เช่น งานต่อเติมหลังคาอาคารเอนกประสงค์ เพื่อรองรับผู้มาประกอบพิธีฮัจญ์ อาคารห้องน้ำ อาคารจุดตรวจคค้นหน้าท่าอากาศยาน งานถนนโดยรอบอาคาร เป็นต้น

 

 


นายอภิรัฐ  กล่าวต่อว่า  ส่วนการพัฒนาเทอร์มินัล ที่ท่าอากาศยานนราธิวาสหลังใหม่นี้ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารมากขึ้น และผลักดันให้ท่าอากาศยานนราธิวาสเป็นท่าอากาศยานนานาชาติ สามารถรองรับเที่ยวบินทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ โดยสามารถรองรับผู้โดยสารได้ไม่น้อยกว่า 600 คนต่อชั่วโมง หรือประมาณ 1.7 ล้านคนต่อปี โดยเทอร์มินัลหลังใหม่นี้ จะให้บริการพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกตามมาตรฐานสากล มีการตกแต่งสถาปัตยกรรมที่สวยงาม และมีเฟอร์นิเจอร์ลอยตัว เป็นต้น
 

 “ช่วงสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กรมฯจะใช้วิกฤติเหล่านี้ ในช่วงที่มีผู้โดยสารใช้บริการลดลง เพื่อเร่งปรับปรุงศักยภาพของท่าอากาศยาน ปรับปรุงมาตรฐาน เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับ เนื่องจากที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นงานที่คั่งค้างมาในปี 2563 นำมาเร่งประกวดราคาในปีนี้ ก่อนที่จะเริ่มงานจ้างศึกษาสนามบินแห่งใหม่ในปีหน้า”

 


 สำหรับท่าอากาศยานนราธิวาสเป็นท่าอากาศยานที่มีความสำคัญในการเชื่อมโยงจังหวัดชายแดนสู่ส่วนกลางหรือสู่โลก นอกจากใช้ในการให้บริการผู้โดยสารทั่วไปแล้ว ยังเป็นท่าอากาศยานเพื่อให้บริการพี่น้องชาวมุสลิมเดินทางจากประเทศไทยไปประกอบพิธีฮัจญ์ทุกๆ ปี แต่ปัจจุบันอาคารที่พักผู้โดยสารมีสภาพเก่าทรุดโทรม เนื่องจากใช้งานมาเป็นเวลานาน อีกทั้งยังขาดสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับผู้มารับ - ส่ง ในช่วงพิธีฮัจญ์

 


  ทั้งนี้หากทย.เร่งผลักดันแผนลงทุนในปี 2564 แล้วเสร็จ หลังจากนี้ ทย.จะมุ่งเน้นลงทุนเพื่อพัฒนามาตรฐานของท่าอากาศยานให้เป็นระดับสากล หลังจากนั้นในปี 2565 มีแผนจ้างศึกษาพัฒนาท่าอากาศยานแห่งใหม่ อาทิ ท่าอากาศยานบึงกาฬ และท่าอากาศยานมุกดาหาร รวมไปถึงขยายท่าอากาศยานชุมพร และท่าอากาศยานระนอง เพื่อรองรับการขยายตัวของเขตพัฒนาพิเศษภาคใต้ (SEZ) ซึ่งคาดว่าโครงการเหล่านี้จะเริ่มลงทุนในปี 2566