ดร.ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” อัพเดทพายุโซนร้อน “โกเซิน” พัฒนาจากพายุดีเปรสชัน ยังอยู่บริเวณประเทศฟิลิปปินส์ ดูทิศทางเคลื่อนตัวพายุคาดว่าจะเข้าทางเวียดนามตอนบน ไปทางเกาะไหหลำ ประเทศจีนตอนล่าง เพราะฉะนั้นอิทธิพลก็อาจจะทำให้ประเทศไทยมีฝนตกเพิ่มขึ้น ที่น่าเป็นห่วงก็คือ ในส่วนของภาคเหนือตอนบน
“ตอนนี้สิ่งที่อยากเห็นก็คือ พายุที่เข้ามาตอนกลางของประเทศไทย เพราะจะได้ส่งถึงไปบริเวณเขื่อนภูมิพล กับเขื่อนสิริกิตติ์ เพราะร่องฝนที่ผ่านมามาตอนบนของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเหนือตอนบน หรืออีสานตอนบน ซึ่งไม่ได้อยู่แถวภาคเหนือตอนล่าง แต่กลับเลื่อนลงมาภาคกลางเลย"
ดร.ณัฐพล กล่าวว่า ปัจจุบัน 2 เขื่อนนี้ มีน้ำเกินครึ่งมานิดหน่อย ก็ยังห่วงว่าในฤดูกาลเพาะปลูกในฤดูแล้งปีหน้าน้ำมีไม่มาก อาจจะได้รับผลกระทบ ก็หวังว่าจะมีพายุลูกใหม่ที่จะเกิดขึ้น ในช่วงหลังกลางเดือนกันยายน ก็หวังว่าจะเข้ามาในโซนแนวกลางของประเทศไทย
พายุโซนร้อน “โกเซิน” มีทิศทางเคลื่อนตัว ไปทางประเทศเวียดนามตอนบน ไปทางเกาะไหหลำ ซึ่งไปได้ 2 ทาง จะเข้าเวียดนามตอนบน หรือ จีนตอนใต้ ก็จะเป็นมณฑลกวางสี ซึ่งประเทศไทยจะได้รับผลในเชิงบวกก็คือมีฝนตกเพิ่มมากขึ้น
อธิบดีกรมอุตุฯ กล่าวถึง สถานะ วันที่ 7 กันยายน อยู่บริเวณฟิลิปปินส์ วันที่ 9-10 กันยายน เคลื่อนลงสู่ทะเลจีนใต้ จากนั้นเข้าไหหลำ วันที่ 11 กันยายน ดังนั้นในวันที่ 12-13 กันยายน จะได้รับอิทธิพลจาก พายุโซนร้อน “โกเซิน” เตือนพี่น้องประชาชนในภาคเหนือตอนบน จังหวัด เชียงราย เชียงใหม่ และ แม่อ่องสอน เนื่องจากอย่างที่ทราบภาคเหนือตอนบนมีฝนตกมาอย่างต่อเนื่อง หากมีฝนเพิ่มขึ้นอีก ต้องระวังน้ำป่าไหลหลาก ดินถล่ม
ส่วนพายุลูกที่ 2 ก่อ ชื่อ พายุโซนร้อน "CHANTHU" มีแนวโน้มเคลื่อนตัวไปทางเหนือ ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
อนึ่ง กรมอุตุนิยมวิทยา อัพเดตพายุสถานการณ์พายุเวลา 20.25 น. วันนี้ (7/9/64) พายุโซนร้อน “โกนเซิน” (CONSON) ที่ปกคลุมตอนกลางของประเทศฟิลิปปินส์ กำลังเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อย คาดว่าจะเคลื่อนตัวลงสู่ทะเลจีนใต้ในวันที่ 9 กันยายน 2564 จะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำลงสู่อ่าวตังเกี๋ยในช่วงวันที่ 12-13 กันยายน 2564
ส่วน พายุโซนร้อน “จันทู” (CHANTHU) บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้น กำลังเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตก ค่อนไปทางเหนือ ขณะนี้พายุทั้งสองลูกยังไม่มีผลกระทบกับประเทศไทย แต่ต้องติดตามเป็นระยะๆ หลังจากพายุนี้เคลื่อนตัวลงสู่ทะเลจีนใต้
หมายเหตุ