กัลฟ์ฯ จ่อลงนาม ท่าเรือแหลมฉบัง - เดินหน้า ทุ่ม 3.5 หมื่นล. สร้างคลังก๊าซ LNG

06 ก.ย. 2564 | 18:59 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.ย. 2564 | 02:05 น.

กัลฟ์ ฯ มั่นใจ ไม่เกินต.ต.นี้ได้ลงนามพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ต่อจากพัฒนาท่าเรือท่าเรือมาบตาพุด ระยะ 3 ขณะเดินหน้าทุ่ม 3.5 หมื่นล้าน สร้างคลังรับก๊าซแอลเอ็นจี ขนาด 10 ล้านตันต่อปี บนพื้นที่ 200 ไร่

นายรัฐพล ชื่นสมจิตต์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานเสวนา EEC Future : เอกชนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ฟื้นเศรษฐกิจไทย จัดโดย “กรุงเทพธุรกิจ” โดยระบุว่า โครงการท่าเรือมาบตาพุด แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ถมทะเล ปัจจุบันคืบหน้าไปมาก คาดว่าไตรมาส 4 ปีนี้จะเริ่มก่อสร้าง เพื่อเพิ่มพื้นที่ดินราว 1 พันไร่ เป้าหมายจะสร้างเสร็จในปี 2567 โดยแบ่งพื้นที่ 450 ไร่เก็บตะกอน 550 ที่เหลือจะใช้ใน 3 โครงการ คือ ท่าเรือสินค้าเหลว ก๊าซ และสินค้าต่างๆ

 

ในส่วนของกัลฟ์ได้พื้นที่ 200 ไร่ ทำแอลเอ็นจีเทอร์มินัล เป็นส่วนที่ 2 ที่บริษัทต้องดำเนินการ ใช้เงินลงทุนราว 3.5 หมื่นล้านบาท รองรับแอลเอ็นจี 10 ล้านตันต่อปี โดยเป้าหมายกัลฟ์จะสร้างท่าเรือแห่งนี้ให้เสร็จในปี 2571 ตอบโจทย์ต่อความต้องการแอลเอ็นจีเทอร์มินัลมาก เพราะปัจจุบันก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยมีปริมาณลดลงคาดว่าในช่วงดังกล่าวจะมีการนำเข้าแอลเอ็นจีเพิ่มขึ้น และแอลเอ็นจีเทอร์มินัลส่วนนี้จะมีความสำคัญของประเทศ สร้างความมั่นคงให้กับประเทศ

“ตอนนี้โครงการไปได้ดีไม่มีปัญหาใหญ่อะไร มีเล็กน้อยเรื่องคุยแบบก่อสร้าง ที่ต้องหารือกับ กนอ. ซึ่งเราอยากให้แบบแล้วเสร็จเรียบร้อยก่อนดำเนินงาน แต่โดยภาพรวมใหญ่ยังเป็นไปตามแผนทั้งหมด”

 

ขณะที่โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เป้าหมายโครงการจะทำคอนเทนเนอร์พอร์ต เนื่องจากท่าเรือแหลมฉบังเป็นท่าเรือสำคัญ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมามีการเติบโต 6% มาตลอด มาลดลงเพียงช่วงโควิด-19 ซึ่งเหลือ 11 ล้านตู้ แต่คาดว่าจะเพิ่มเป็น 16 ล้านตู้ และอีก 20 ปีข้างหน้าเป็นเฉลี่ย 20 ล้านตู้

 

ทั้งนี้ ความคืบหน้าของโครงการ ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนอัยการตรวจสอบร่างสัญญา คาดว่าในเดือนกันยายน-ตุลาคมนี้ จะได้ลงนามสัญญา และขณะนี้ทางการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) จะดำเนินการถมทะเลให้เสร็จ โดยจะเสร็จภายใน 2 ปีนี้ หรือภายในปี 2566