พายุ “โอไมส์” กระทบไทย “เหนือ-อีสาน” ฝนตกหนักถึงหนักมาก

24 ส.ค. 2564 | 18:04 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ส.ค. 2564 | 01:43 น.
5.6 k

มาตามนัด อธิบดีกรมอุตุฯ เผยไทม์ไลน์ เส้นทางพายุ “โอไมส์” วันพรุ่งนี้ เตือน “เหนือตอนบน-อีสาน” กระทบไทย ลากยาวถึงสิ้นเดือน ส.ค. รับมือ ฝนตกชุกต่อเนื่อง ฝนตกหนักถึงหนักมาก ระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก

ดร.ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์

ดร.ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ปรากฎการณ์ "พายุ"  มี 3 ลูก ลูกแรกช่วงวันที่ 19-22 กรกฎาคม 2564 ชื่อ พายุ “เจิมปากา” ไม่ได้เข้าไทย เส้นทางพายุไปจีน ส่วนลูกที่สอง พายุโซนร้อน “ลูปิต” เกิดขึ้นวันที่ 4-7 สิงหาคม 2564 พายุตัวนี้แปลกพัฒนาจากพายุโซนร้อน

 

แทนที่จะพัดเข้าประเทศไทย กลับไปพัดเข้าประเทศจีน แถบมณฑลกวางตุ้ง และไต้หวัน ที่ได้รับอานิสงส์จากพายุลูกนี้เป็นเรื่องแปลกมากเพราะพายุตัวนี้กำลังพัฒนาตัว แต่เส้นทางพายุไม่เป็นไปตามคาด จึงเห็นว่าประเทศไทยฝนช่วงตอนต้นเดือนสิงหาคมหายไปช่วงหนึ่ง

 

“ล่าสุด พายุ “โอไมส์” เป็นพายุลูกที่3  คาดว่าจะเข้ามาทางด้านภาคเหนือตอนบน อาทิ จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และเชียงราย เป็นต้น รวมทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คาดว่าจะมีฝนตกเพิ่มขึ้น ซึ่งทางกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ส่งคำเตือนไปก็เรียบร้อยแล้วในจังหวัดดังกล่าวเพื่อรับมือ ตั้งแต่วันพรุ่งนี้ ไปจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม (วันที่25-31 สิงหาคม 2564)บริเวณทะเลจีนตะวันออก กำลังเคลื่อนตัวไปทางทิศเหนือ 

ดร.ณัฐพล กล่าวว่า เส้นทางพายุ “โอไมส์” ไม่ได้เข้าไทยโดยตรง แต่จะเป็นตัวดึงร่องมรสุมให้ลดระดับลง กดลงมา คาดว่าพายุดุจากเส้นทางจากภาพถ่ายดาวเทียมคาดว่าจะเข้าไปทางจีน ซึ่งไปดึงร่องมรสุมจึงทำให้ภาคเหนือกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอีสานตอนบน จะได้รับอิทธิพลแล้วเริ่มมีฝนตกในวันพรุ่งนี้

อาทิ จังหวัดบึงกาฬ หนองคาย และอุดรธานี เป็นต้น ส่วนอีสานล่าง คราวนี้จะได้รับอานิสงส์ด้วยเช่นเดียวกัน กรมอุตุฯ ได้ส่งคำเตือนไปแล้วในจังหวัดต่างๆ ให้รับมือ ฝนตกชุก หนักถึงหนักมาก ระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก”

 

“เป็นไปตามลักษณะอากาศปกติเวลาพายุมา หากมาทางฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก หรือ ฟิลิปปินส์ อีสานจะได้รับผลกระทบก่อน รอบนี้มาตามนัด แต่ช้าไปประมาณ 1 สัปดาห์"

 

พายุ “โอไมส์” สถานะอยู่บริเวณทะเลจีนใต้ ยังไม่ได้ขึ้นฝั่ง เป็นพายุโซนร้อน คาดว่าจะขึ้นฝั่งในวันพรุ่งนี้ ส่งผลทำให้ประเทศไทยได้รับอานิสงส์ ข้อดีของพายุจะดึงความชื้นเข้ามา โดยพายุไม่ต้องเข้ามาที่ประเทศไทย ก็จะดึงความชื้นลงมาทำให้เกิดฝนตกได้”

ดร.ณัฐพล กล่าวว่า ปีนี้ฝนมาช้า กรมอุตุนิยมวิทยา ก็มีความรู้สึกเป็นห่วง ประกอบกับร่องความกดอากาศต่ำลงมาจะกดลงมาเรื่อยๆ ที่เกิดจากจีนตอนใต้ ไล่มาตั้งแต่ภาคเหนือตอนบน ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ตอนนี้ที่เป็นห่วงกันมาก พอถึงเวลาถ้ามาพร้อมกับพายุ แล้วร่องกดลงมา ภาคใต้ปีนี้น่าเป็นห่วงน้ำจะท่วม เพราะหากเลยเดือนตุลาคมไปแล้วโดยปกติเป็นฤดูฝนของภาคใต้ แล้วร่องมรสุมมาช้า ปะทะกับพายุจะทำให้ปีนี้ภาคใต้น้ำจะมาก เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน จะต้องติดตามดูอย่างใกล้ชิด

 

"ปรากฎการณ์พายุปีนี้แปลกมาก หากมองย้อนกลับไปครึ่งแรกของเดือนสิงหาคม ตอนนั้นกรมอุตุนิยมวิทยา มองจากภาพถ่ายดาวเทียมอยู่ไกลมาก เลยประเทศฟิลิปปินส์ ไปอีก พอพายุมาแล้ว ช่วงแรกที่คาดการณ์กันว่าน่าจะมาช่วงวันที่ 20 สิงหาคม แต่ทำไมไม่เคลื่อนเข้าไทย จู่เส้นทางพายุพัดตีกลับเข้าไปทางมณฑลกว้างตุ้ง ไต้หวัน เพิ่งเห็นเป็นครั้งแรก"