ประกันรายได้ข้าว ปี3 เฮหรือหุบ วันนี้ 23 ส.ค.

23 ส.ค. 2564 | 11:50 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ส.ค. 2564 | 19:29 น.

ชาวนา 4.7 ล้านคน ระทึก วันนี้ ประกาศผล “ประกันราคาข้าว” ประกันรายได้ข้าวปี 23 ส.ค. เฮหรือหุบ นับถอยหลัง ติดตามผล

โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว เป็นนโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เดินทางมาถึงปีที่ 3 ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดปีที่ 2 ในระลอกที่ 3 ที่เป็นเชื้อกลายพันธุ์ ทำให้ประเทศต้องเผชิญความยากลำบากในการขับเคลื่อนไปข้างหน้า ทุกอาชีพเวลานี้ต่างได้รับผลกระทบ ทำให้การนำเงินงบประมาณมาใช้ของรัฐบาลต้องทำด้วยความรอบคอบ เหมาะสม และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการใช้สำหรับประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวก็ต้องเป็นไปด้วยความรอบคอบ และเข้าถึงเกษตรกรตรงตามเป้าหมายเช่นกัน ล่าสุดมีความคืบหน้าตามลำดับ

 

 แหล่งข่าวจากคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์อ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงสรุปผลการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2563/64 รอบที่ 1 ว่า ได้รับทราบผลการจ่ายชดเชย ณ วันที่ 22 กรกฎาคม 2564 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้โอนเงินชดเชยให้เกษตรกรแล้ว สำหรับงวดที่ 1-30 รวมทั้งสิ้น จำนวน 4.68 ล้านครัวเรือน วงเงิน 48,136.83 ล้านบาท คิดเป็น 97.31% ของวงเงินงบประมาณที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ (49,509.81 ล้านบาท) คงเหลือเงิน 1,3332.98 ล้านบาท 

 

ส่วนการโอนเงินที่ยังไม่สำเร็จ มีกว่า 3,000 ล้านบาท จากเกษตรกร ชื่อ สกุล ไม่ตรงกับบัญชี, บัญชีเงินฝากไม่ถูกต้อง, บัญชีถูกอายัด, ไม่พบบัญชีเงินฝาก ซึ่งได้แจ้ง ให้ ธ.ก.ส. สาขาตรวจสอบความถูกต้องของชื่อบัญชีเกษตรกร อีกด้านได้แจ้งกรมส่งเสริมการเกษตรตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเกษตรกรอีกทาง

ส่วนการดำเนินการโครงการประกันรายได้ข้าวปี 3 (ปี 2564/65)  ถือมีความพิเศษ จากมีการคำนวณต้นทุนการผลิตของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) บวกค่าขนส่ง ตันละ 250 บาท และบวกกำไร โดยนำเสนอคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน (23 ส.ค.นี้) จะมีการพิจารณาแนวทาง 3 แนวทาง ดังนี้ 1.แนวทางที่ 1 กำหนดราคาเกณฑ์กลางเท่าปีที่ผ่านมา แนวทางที่ 2 บวกกำไร 20% และแนวทางที่ 3 บวกกำไร 10%  (กราฟฟิกประกอบ)

 

แนวทางประกันรายได้ปี 3

สำหรับปริมาณข้าวสูงสุดต่อครัวเรือน เสนอแนวทางการกำหนดปริมาณสูงสุดต่อครัวเรือนในแต่ละชนิดข้าว ดังนี้ แนวทางที่ 1 คำนวณจากพื้นที่ไม่เกิน 40 ไร่ ยกเว้นข้าวเจ้าไม่เกิน 50 ไร่ เช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา แนวทางที่ 2 คำนวณจากพื้นที่เพาะปลูกไม่เกิน 40 ไร่ ทุกชนิดข้าว โดยจะทำให้ปริมาณสูงสุดต่อครัวเรือนของข้าวเปลือกเจ้าลดลงจากปีที่ผ่านมา จากครัวเรือนละ 30 ตัน เป็นครัวเรือนละ 25 ตัน แต่สุดท้ายที่ประชุมได้สรุปความเห็นว่าการคำนวณปริมาณสูงสุดต่อตันจากพื้นที่เพาะปลูกไม่เกิน 40 ไร่ ทุกชนิดข้าว เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวทุกชนิด

 ส่วนการกำหนดเกณฑ์ราคากลางอ้างอิง ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564-พฤษภาคม 2565 การกำหนดราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงจะประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงทุกวันศุกร์ งวดแรกเริ่มวันที่ 15 ตุลาคม 2564 สำหรับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2563/64 และระบุวันคาดว่าจะเก็บเกี่ยวก่อนวันที่ 15 ตุลาคม 2564 และงวดสุดท้ายจะประกาศวันที่ 27 พฤษภาคม 2565 สำหรับเกษตรกรที่ระบุวันที่คาดว่าเก็บเกี่ยวจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 รวม จำนวน 33 งวด

นอกจากนี้ยังมีมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกร อาทิ 1.โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี เป้าหมาย 2 ล้านตัน โดยกำหนดวงสินเชื่อต่อตัน ดังนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 11,000 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 11,000 บาท ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 8,600 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 5,400 บาท  และข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 7,300 บาท ค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวในอัตรา 1,500 บาท ตันต่อข้าวเปลือกให้กับเกษตรกรที่มีที่เก็บ 2.โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก (ปีแรก) 3.โครงการชดเชยโรงสีรับซื้อข้าวเพื่อเก็บสต๊อก ระยะเวลา 2-6 เดือน เป้าหมาย 4 ล้านตัน

ปราโมทย์ เจริญศิลป์

นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ได้มีการพูดคุยกับนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เบื้องต้นไม่รับปากว่าจะได้ราคาประกันรายได้ข้าวเท่า 2 ปีที่ผ่าน โดยจะให้นายกรัฐมนตรี เป็นคนตัดสินใจในวันที่ 23 ส.ค.นี้ ซึ่งชาวนาก็เข้าใจรัฐบาล และทำใจล่วงหน้าแล้วว่าจะมีการปรับลดประกันรายได้ข้าว ที่ผ่านมาสมาคมฯก็พยายามต่อสู้เต็มที่แล้ว

 

ต้องจับตาวันที่ 23 ส.ค. นี้จะเป็นวันชี้ชะตา ประกันรายได้ข้าว ชาวนาจะเฮ ทั้งประเทศแบบสุดตัวจากใช้ราคาตามเกณฑ์เดิม หรือจะเฮ แบบเสียงแห้งจากใช้เกณฑ์ใหม่ทำให้รายได้ลดลงเป็นปีแรก พ่วงโครงการคู่ขนานจะเพียงพอหรือไม่ที่จะพยุงราคาข้าวไม่ให้ตกต่ำ อีกทั้งปีนี้เป็นปีพิเศษที่จะมีการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อกเป็นปีแรก จะช่วยสร้างปาฏิหาริย์ ไม่ให้ราคาข้าวตกต่ำลงได้หรือไม่ น่าติดตามอย่างยิ่ง