อีก 73 วัน สิ้นสุดฤดูฝน ปี2564 จับตา พายุ 2 ลูก ไทยพ้นวิกฤติแล้ง หรือไม่

20 ส.ค. 2564 | 18:14 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ส.ค. 2564 | 05:03 น.
9.5 k

กอนช. เผยมีพายุลูกใหม่ ก่อตัวมหาสมุทรแปซิฟิก 1 ลูก ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทยโดยตรง ขณะที่ สสน. นับถอยหลัง 73 วัน สิ้นสุดฤดูฝนปี 64 ลุ้นพายุ 2 ลูก ส่งไทยพ้นวิกฤติแล้งหรือไม่ ขณะที่ กรมชลประทาน เตือนภาคใต้ตอนล่าง ฝนเพิ่มขึ้น ระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ติดตามสภาพอากาศช่วงปลายเดือนส.ค. - ก.ย.64 ตามที่มีคลิปวิดีโอเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์โดยมีรายละเอียดเนื้อหาเกี่ยวกับเส้นทางพายุจำนวน 3 ลูก และมีแนวโน้มพุ่งเข้าประเทศไทยโดยตรงจำนวน 1 ลูก ทำให้เกิดฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักถึงหนักมาก นั้น

 

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ขอรายงานสถานการณ์สภาพอากาศในช่วงปลายเดือนสิงหาคม – กันยายน 2564 ดังนี้

 

1. จากการติดตามสภาพอากาศพบว่าในช่วงวันที่ 20 - 23 สิงหาคม 64 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังอ่อน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนบางแห่ง ในขณะที่มีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมชายฝั่งประเทศมาเลเซีย ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง

 

ส่วนในช่วงวันที่ 24 - 26 สิงหาคม 64 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ในขณะในที่ในช่วงวันที่ 25 – 26 สิงหาคม 64 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง

 

2. การคาดหมายลักษณะอากาศของประเทศไทยประจำเดือนกันยายน 2564  บริเวณประเทศไทยส่วนใหญ่ยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่นเกือบทั่วไป โดยจะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60–80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักหลายพื้นที่และหนักมากในบางแห่ง ซึ่งจะก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากรวมทั้งน้ำล้นตลิ่งในหลายพื้นที่ คลื่นลมในทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนยังคงมีกำลังแรง

 

ทั้งนี้เนื่องจาก มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทย โดยจะมีกำลังแรงเป็นระยะๆ ประกอบกับ ในบางช่วงจะมีร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณประเทศไทยตอนบน นอกจากนี้ อาจจะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนตัวเข้าใกล้หรือเคลื่อนตัวผ่านประเทศไทยบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ

 

3. จากการติดตามการก่อตัวของพายุในมหาสมุทรแปซิฟิก ปัจจุบัน พบว่าแนวโน้มการก่อตัวของพายุ จำนวน 1 ลูก และมีทิศทางเคลื่อนตัวไปทางประเทศญี่ปุ่น ไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย

 

ทั้งนี้ กอนช. จะติดตามความคืบหน้าของสภาพอากาศ และจะประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด   เพื่อบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ตลอดจนแจ้งเตือนประชาชนเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อไป

อีก 73 วัน สิ้นสุดฤดูฝน

 

ด้าน สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน.สรุปสถานการณ์น้ำประจำวันที่ 20 สิงหาคม 2564 จากระบบคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ นับถอยหลัง เหลือกี 73 วัน สิ้นสุดฤดูฝน ประจำปี 2564  มีปริมาณน้ำใช้การของ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยามีน้ำใช้การได้รวม 1,584 ล้านลูกบาศก์เมตร ต้องการน้ำเก็บกักเพิ่ม 10,416 ล้านลูกบาศก์เมตร ประมาณการความต้องการใช้น้ำช่วงฤดูแล้ง และช่วงต้นฤดูฝนของปี 2565 (อุปโภค-บริโภคการเกษตรและระบบนิเวศ) 12,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ณ ตอนนี้ความต้องการน้ำเก็บกักเพิ่ม 10,416 ล้านลูกบาศก์เมตร

 

อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้ ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า จะมีพายุหมุนเขตร้อนมีโอกาสเคลื่อนผ่านเข้ามาโดยมีศูนย์กลางบริเวณประเทศไทยตอนบน 1 ลูก ในช่วงกลาง ก.ย.64 เป็นต้นไปถึงกลาง ต.ค.64 และ บริเวณภาคใต้ 1 ลูก ช่วงเดือน ต.ค.- ธ.ค.64   ต้องลุ้นกันว่าพยากรณ์จะตรงหรือไม่ น้ำจะเข้าเขื่อนมากแค่ไหน

 

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล

 

ด้าน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ภาพรวมปริมาณน้ำต้นทุนทั้งประเทศยังอยู่ในเกณฑ์น้อย ในขณะที่ทั้งประเทศมีการทำนาปีไปแล้วรวม 13.96 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 83 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพาะปลูกไปแล้ว 6.47 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 81 ของแผนฯ ทั้งนี้ เนื่องจากปริมาณฝนที่ลดลง ส่งผลให้ปริมาณน้ำท่าและน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำลดน้อยลงไปด้วย จึงได้สั่งการไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศ

 

โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ให้ประชาสัมพันธ์ไปยังเกษตรกรในพื้นที่ได้รับรู้รับทราบถึงสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง พร้อมขอความร่วมมือเกษตรกรที่ทำการเก็บเกี่ยวนาปีรอบแรกแล้ว ให้งดทำนาต่อเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงที่ผลผลิตรจะเสียหาย เนื่องจากจำเป็นต้องเก็บกักน้ำไว้เพื่อการอุปโภค บริโภค และรักษาระบบนิเวศ

 

ขอความร่วมมือเกษตรกรที่ทำการเก็บเกี่ยวนาปีรอบแรกแล้ว ให้งดทำนาต่อเนื่อง

สำหรับพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างที่มีปริมาณฝนตกเพิ่มขึ้น นั้น ได้กำชับโครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยง ให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด พิจารณาปรับการระบายให้สอดคล้องกับสถานการณ์โดยไม่กระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ รวมทั้งตรวจสอบอาคารชลประทานให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ ส่งเครื่องจักรเครื่องมือประจำจุดเสี่ยงพร้อมปฏิบัติงานได้ทันที

 

ตลอดจนร่วมบูรณาการกับหน่วยงานระดับจังหวัดในการแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มาที่สุดกรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำในทุกสถานการณ์อย่างเต็มความสามารถ พร้อมช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหาไปจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือสามารถร้องขอไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่ หรือโทร1460 ได้ตลอดเวลา