"โควิดสายพันธุ์เดลตา"กดดันราคาน้ำมันดิบโลกทรงตัว

18 ส.ค. 2564 | 16:49 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ส.ค. 2564 | 23:48 น.

สนพ.เผยราคาน้ำมันดิบทรงตัว จากโควิดสายพันธุ์เดลตายังระบาดในหลายประเทศ ด้านราคาไบโอดีเซลเพิ่มเล็กน้อย และความต้องการใช้ในเอเซียดึงราคา Spot LNG ปรับตัวเพิ่มขึ้น

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)  เปิดเผยว่า ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัว โดยตลาดได้รับแรงหนุนจากความต้องการใช้น้ำมันในสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นหลังวุฒิสภาสหรัฐฯ ลงมติผ่านร่างกฎหมายการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐาน 1 ล้านล้านเหรียญ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและอุปสงค์น้ำมัน นอกจากนี้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในอินเดีย เดือนกรกฏาคม 2564 ปรับตัวสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (Covid-19) เริ่มคลี่คลาย อีกทั้งจากสถานการณ์ความไม่สงบในอัฟกานิสถาน ล่าสุดกองกำลังติดอาวุธ Taliban สามารถบุกรุกเข้าสู่กรุง Kabul เมืองหลวงของอัฟกานิสถาน และยึดทำเนียบประธานาธิบดีได้แล้ว 
อย่างไรก็ตามตลาดยังมีแนวโน้มถูกกดดันจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ที่ขยายวงกว้างทั่วโลก ส่งผลทำให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในบางประเทศปรับตัวลดลง โดยญี่ปุ่นได้ประกาศภาวะฉุกเฉินในหลายจังหวัดครอบคลุมกว่า 70% ของประชากร ขณะที่จีนประกาศมาตรการจำกัดการเดินทางและยกเลิกเที่ยวบิน
ภาพรวมสถานการณ์ราคาน้ำมันโลก (วันที่ 9 – 15 สิงหาคม 2564) ราคาน้ำมันดิบดูไบและเวสต์เท็กซัส เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 69.79 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และ 68.31 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 1.39 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และ 1.16 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ ซึ่งนักลงทุนวิตกว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา จะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน ด้านสำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในหลายประเทศ 

ราคาน้ำมันดิบ
ทั้งนี้ โกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์ในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน 2564 ความต้องการใช้น้ำมันยังถูกกดดันจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ซึ่งส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบในตลาดลดลงจากระดับ 2.3 ล้านบาร์เรล/วัน ไปอยู่ที่ระดับ 1 ล้านบาร์เรล/วัน และยังคาดการณ์ว่าความต้องการใช้น้ำมันจะฟื้นตัวขึ้นตามอัตราการฉีดวัคซีนที่สูงขึ้น อีกทั้ง สหรัฐฯ เรียกร้องให้กลุ่มโอเปกพลัสผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นในระยะยาว เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเพื่อควบคุมราคาน้ำมันเบนซินในสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยกลุ่มผู้ผลิตจะมีการประชุมอีกครั้งในวันที่ 1 กันยายน 2564

สำหรับราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 และ 91 (Non-Oxy) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 82.49 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล 80.17 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และ 81.16 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 1.32 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล 1.52 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และ 1.51 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล  การส่งออกจากเอเชียเหนือที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามตลาดยังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสิงคโปร์ที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.9 จากสัปดาห์ก่อนหน้า
ราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (10 PPM) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 76.64 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล  ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 1.78 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากอุปทานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ความต้องการใช้ในภูมิภาคชะลอตัวลงตามฤดูกาล นอกจากนี้ตลาดยังถูกกดดันจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ที่ส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ 
ส่วนค่าเงินบาทอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.29 บาท/เหรียญสหรัฐฯ อยู่ที่ระดับเฉลี่ย 33.5589 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ต้นทุนน้ำมันเบนซินลดลง 0.12 บาท/ลิตร น้ำมันดีเซลลดลง 0.23 บาท/ลิตร (ค่าการตลาดของน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล และดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 2.33 บาท/ลิตร) ทั้งนี้ ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 15 สิงหาคม 2564 กองทุนน้ำมันฯ มีสินทรัพย์รวม 48,573  ล้านบาท หนี้สินกองทุนฯ 34,332 ล้านบาท ฐานะกองทุนน้ำมันฯ สุทธิ 14,241 ล้านบาท (บัญชีน้ำมัน 29,925  ล้านบาท และบัญชี LPG  -15,684  ล้านบาท)

สถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติ
นายวัฒนพงษ์ กล่าวอีกว่า ราคาน้ำมันไบโอดีเซล (B 100) อ้างอิงเฉลี่ย ระหว่างวันที่ 16 - 22 สิงหาคม 2564 อยู่ที่ 39.19 บาทต่อลิตร เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.46 บาทต่อลิตร จากสถานการณ์ราคาผลปาล์มน้ำมัน (ณ วันที่ 9-13 สิงหาคม 2564) เฉลี่ยอยู่ที่ 6.20-7.30 บาทต่อกิโลกรัม ราคาน้ำมันปาล์มดิบอยู่ที่ 35.25 - 36.5 บาทต่อกก. ขณะนี้ราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกอยู่ที่ประมาณ 35.42 บาทต่อกิโลกรัม ผลผลิตน้ำมันปาล์มของประเทศมาเลเซียซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มอันดับ 2 ของโลกปรับตัวลดลง เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างชาติในอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน ในขณะที่ผลผลิตปาล์มน้ำมันของไทยเริ่มน้อยลงโรงสกัดในประเทศยังมีการส่ง CPO ออกไปจำหน่าย ต่างประเทศ ทำให้ราคาขายในประเทศปรับตัวสูงขึ้นจากความต้องการซื้อน้ำมันปาล์มดิบของผู้ผลิต

นอกจากนี้ สนพ.ได้ติดตามสถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว ในตลาดจร หรือ Spot LNG ช่วงระหว่างวันที่ 2 – 6 สิงหาคม 2564 พบว่าในสัปดาห์นี้เฉลี่ยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.127 เหรียญสหรัฐฯ/ล้านบีทียู อยู่ที่ระดับ 16.316 เหรียญสหรัฐฯ/ล้านบีทียู จากผู้ซื้อรายใหญ่จากภูมิภาคเอเชียเหนือ      มีความต้องการจัดหาเที่ยวเรือ Spot LNG เร่งด่วน (Prompt Spot cargo) จากความต้องการใช้ก๊าซในประเทศที่สูงขึ้น เช่น ประเทศจีนได้ออกประมูลจัดหาเที่ยวเรือ Spot LNG เร่งด่วนสำหรับส่งมอบเดือนสิงหาคม และผู้ซื้อจากประเทศเกาหลีใต้ได้ออกจัดหาเที่ยวเรือ Spot เช่นกันแต่เป็นสำหรับการส่งมอบในเดือนกันยายน เป็นต้น
"บริษัท Cheniere Energy ผู้ผลิตและส่งออก LNG รายใหญ่ของสหรัฐฯ เผยว่า ขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณการกลับมาของตลาดในการลงนามในสัญญาซื้อขาย LNG ระยะยาว (LNG SPA) อีกครั้ง หลังจากเศรษฐกิจในหลายประเทศเริ่มกลับมาฟื้นตัวหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดย Cheniere เองก็ได้ร่วมลงนามสัญญาซื้อขาย LNG SPA ในปีนี้ไปแล้วกว่า 12 ล้านตัน ซึ่งมีกำหนดส่งมอบในช่วงปี 2021 - 2032 ทั้งนี้ Cheniere ยังอยู่ระหว่างพัฒนาส่วนต่อขยายของโครงการ Corpus Christi LNG ในรูปแบบหน่วยการผลิตขนาดกลางอีก 7 หน่วย ซึ่งจะทำให้มีกำลังการผลิตส่วนเพิ่ม 10 ล้านตันต่อปี"