ปลายปีนี้เตรียมเฮ ขึ้นรถไฟสายสีแดง ใช้ระบบตั๋วร่วม-EMV ได้แล้ว

10 ส.ค. 2564 | 15:19 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ส.ค. 2564 | 22:27 น.
714

"คมนาคม" ถก กรุงไทย ดึงระบบตั๋วร่วม-EMV ใช้นำร่องขึ้นรถไฟสายสีแดง ภายในเดือนธ.ค.นี้ เล็งใช้ข้ามระบบสายสีม่วง-น้ำเงิน ช่วงต้นปี 65 สั่งรฟท.-รฟม. เร่งหาข้อสรุปเคาะค่าแรกเข้าร่วมกัน

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าการนำระบบตั๋วร่วมในรูปแบบ EMV (Europay Mastercard and Visa)มาใช้ในการชำระค่าโดยสารรถไฟสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน นั้น ที่ผ่านมาจากการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงคมนาคม และธนาคารกรุงไทย ได้ข้อสรุปว่า จะสามารถเริ่มใช้ระบบ EMV กับรถไฟฟ้าสายสีแดงได้ก่อนในเดือน ธ.ค. 64

 

ขณะเดียวกันในส่วนการใช้ข้ามระบบหรือตั๋วร่วมโดยเฉพาะการเชื่อมระบบกับรถไฟฟ้า MRT ทั้งสายสีน้ำเงิน และสายสีม่วง ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) คาดว่าจะเริ่มได้ประมาณต้นปี 65 หรือประมาณเดือน ก.พ.65 จากนั้นจะสามารถใช้บริการกับระบบขนส่งสาธารณะในระบบอื่นๆ ต่อไป ซึ่งจะเป็นอีกทางเลือกที่ช่วยเพิ่มความสะดวกให้แก่ประชาชน 

สำหรับการจัดเก็บอัตราค่าแรกเข้าในการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้าสายสีแดง กับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินนั้น ขณะนี้กระทรวงคมนาคมมอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) และ รฟม. นำไปประกอบการกำหนดเงื่อนไขไม่มีค่าแรกเข้าระบบ ในร่างสัญญาสัมปทานของโครงการรถไฟฟ้าที่จะเปิดให้บริการ หรือมีการแก้ไขสัญญาสัมปทานในอนาคต เพื่อให้ผู้ใช้บริการขนส่งทางรางที่เดินทางเปลี่ยนถ่ายระหว่างเส้นทางรถไฟฟ้าในโครงข่ายทั้งหมด ให้จัดเก็บค่าโดยสารที่มีค่าแรกเข้าของรถไฟฟ้าที่เดินทางเข้าระบบแรกเพียงครั้งเดียว 

 

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อว่า ทั้งนี้แนวโน้มการจัดเก็บค่าแรกเข้าในระยะแรก หากเดินทางจากรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมาต่อสายสีแดง ทางสายสีแดงจะไม่เก็บค่าแรกเข้าซ้ำอีก แต่หากเดินทางจากรถไฟฟ้าสายสีแดงมาต่อสายสีน้ำเงิน อาจจะต้องเสียค่าแรกเข้าใหม่อีกครั้ง เนื่องจากสัญญาสัมปทานของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน จัดทำมาก่อนที่สายสีแดงจะเปิดให้บริการ และไม่ได้กำหนดไว้ว่าให้ยกเว้นค่าแรกเข้าเมื่อเดินทางมาจากรถไฟฟ้าสายอื่นที่ไม่ใช่ของ รฟม. 

อย่างไรก็ตามส่วนอัตราค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีแดง อยู่ที่ 12-42 บาท ขณะนี้จะต้องรอเก็บข้อมูลค่าใช้จ่ายจริงจากการให้บริการในเดือน ก.ย.64 ก่อน เพื่อนำมาใช้ในการกำหนดโครงสร้างค่าโดยสารต่อกิโลเมตร (กม.) ว่าอยู่ในอัตราเท่าใด ซึ่งจะนำค่าใช้จ่ายจริงหารด้วยจำนวนตั๋ว จะทำให้ทราบว่าแต่ละสถานีต้องเก็บค่าโดยสารเพิ่มขึ้นในอัตราเท่าใด เช่น สถานีแรก 12 บาท สถานีต่อไปอาจเก็บเพิ่มเป็น 14 บาท แต่ทั้งหมดตลอดสายค่าโดยสารต้องไม่เกิน 42 บาท   คาดว่าในเดือน ต.ค.นี้ จะสามารถประกาศอัตราค่าโดยสารแต่ละสถานีได้ เพื่อนำมาใช้ในการเก็บค่าโดยสาร ซึ่งรถไฟฟ้าสายสีแดงจะเริ่มให้บริการแบบเก็บค่าโดยสารในเดือน พ.ย.64 เป็นต้นไป