‘ตั๋วร่วม’ รอดหรือล่ม!!!

27 พ.ย. 2563 | 07:40 น.
1.0 k

ตั๋วร่วมรถไฟฟ้า เชื่อมทุกระบบ สายสีเขียว-สีน้ำเงิน จะรอดหรือล่ม

 

 

 

ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม พยายามผลักดันการเปิดให้บริการระบบตั๋วร่วมข้ามระบบระหว่าง “BTS และ MRT” ให้ทันภายในเดือนตุลาคม 2563 แต่เหมือนจะเลื่อนออกไปถึงปี 2564 เมื่อปัจจุบันพบว่าการพัฒนาระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ (AFC) ของระบบรถไฟฟ้าให้สามารถใช้บัตรโดยสารข้ามระบบนั้นยังติดปัญหา เนื่องจากบริษัทผู้ออกแบบและพัฒนาระบบของ BTS และ BEM ที่ประเทศสิงคโปร์ ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

                ขณะเดียวกันมีกระแสอีกว่าประชาชนส่วนใหญ่เตรียมพร้อมที่จะใช้ “ตั๋วร่วม” เพื่อชำระเงินและเดินทางข้ามระบบทั้ง BTS MRT และแอร์พอร์ตลิงก์ เพราะเชื่อว่าผู้ที่เดินทางข้ามระบบรถไฟฟ้าหลายสายคงเบื่อที่จะพกบัตรโดยสารหลายใบ แต่ล่าสุดได้ยินว่าสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เตรียมงบศึกษา วงเงิน 34.5 ล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการขนส่งมวลชนโดยใช้บัตรโดยสารใบเดียวสามารถเดินทางได้ทุกระบบขนส่ง คาดว่าจะพัฒนาระบบหัวอ่านข้ามระบบได้ไม่เกินไตรมาส 2 ปี 2564 หรือภายในเดือนมิถุนายน 2564

                ส่วนการดำเนินโครงการศึกษาและการพัฒนาระบบตั๋วร่วมของสนข.นั้น ประกอบด้วย โครงการศึกษาการใช้ระบบตั๋วร่วมเพื่อส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชน โดยจัดตั้งศูนย์การบริหารจัดการรายได้ (Clearing House) ซึ่งจะเป็นศูนย์เชื่อมโยงข้อมูลการเดินทางของผู้โดยสารและจัดสรรรายได้แก่ผู้ประกอบการระบบขนส่งมวลชนแต่ละราย รวมทั้งผู้ประกอบการอื่นๆ ที่เข้ามาร่วมกับระบบตั๋วร่วม และศึกษาพัฒนาระบบค่าโดยสารสำหรับการขนส่งสาธารณะทุกรูปแบบและการเชื่อมต่อ โดยศึกษาถึงโครงสร้างค่าโดยสารร่วม(Common Fare) และรูปแบบของค่าโดยสารที่เหมาะสมสำหรับประยุกต์ใช้ร่วมกับตั๋วโดยสารร่วมของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ด้านโครงการดำเนินงานบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม (Program Management Services : PMS) เป็นการดำเนินการศึกษาออกแบบระบบตั๋วร่วมระบบการเชื่อมโยงข้อมูล และระบบของศูนย์การบริหารจัดการรายได้ รวมทั้งร่างกฎหมายในการกำกับการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม (ร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ.....)

               

‘ตั๋วร่วม’ รอดหรือล่ม!!!

 

สำหรับระยะเวลาศึกษาโครงการฯ ราว 20 เดือน (กันยายน 2563-เมษายน 2565) โดยจะเริ่มศึกษาโครงสร้างอัตราค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมทางการเงินในระบบตั๋วร่วม ภายในเดือนธันวาคม 2563-กันยายน 2564 หลังจากนั้นจะดำเนินการจัดหารูปแบบการลงทุนเพื่อชดเชยรายได้จากค่าโดยสารร่วม ภายในเดือนพฤษภาคม 2564 คาดว่าจะดำเนินการร่างพ.ร.บ.บริหารจัดการตั๋วร่วม ภายในเดือนมิถุนายน 2564

                รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ขณะนี้ทางสนข.อยู่ระหว่างศึกษาการร่างพ.ร.บ.ตั๋วร่วม เพื่อรองรับการชำระเงินข้ามระบบระหว่าง BTS และ MRT ผ่านบัตรเดบิตฯ ร่วมกัน ซึ่งทำให้ได้รับความสะดวกมากขึ้น ส่วนการจัดทำคำสั่งเปลี่ยนแปลงงาน (VO)ของรฟม. ซึ่งเป็นการเพิ่มงานปรับปรุงหัวอ่านรถไฟฟ้าสายสีม่วง วงเงิน 140 ล้านบาท และสายสีนํ้าเงิน วงเงิน 100 ล้านบาท ขณะนี้มีความล่าช้า ทำให้การปรับปรุงใช้งานข้ามระบบร่วมกัน ทั้งบัตรแรบบิทของบีทีเอส และบัตร MRT บัตรแมงมุม ของรฟม. อาจไม่ทันภายในปีนี้ ทั้งนี้ในอนาคตจะมีการปรับปรุงหัวอ่านรองรับบัตรข้ามระบบ ทางรฟม.และบีทีเอส ต้องปรับปรุงระบบเป็นแอคเคาท์ เบส ทิคเก็ต (ABT) ซึ่งเป็นการใช้งานผ่านบัตร EMV (Euro/Master/Visa Card) รวมถึงระบบคิวอาร์โค้ด การสแกนใบหน้า ฯลฯ

                นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เบื้องต้นบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เสนอให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ นำร่องการให้บริการระบบตั๋วร่วมสำหรับการโดยสารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ รถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีสายสีนํ้าเงินและสายสีม่วง โดยใช้บัตรใบเดียว (ตั๋วร่วม) แต่ปัจจุบันติดปัญหาค่าใช้จ่ายในการลงทุนพัฒนาระบบหัวอ่านข้ามระบบว่าหน่วยงานใดจะเป็นผู้รับผิดชอบ

                “เชื่อว่าหน่วยงานใดจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้ในการลงทุนพัฒนาระบบหัวอ่านข้ามระบบนั้นคงไม่ใช่เรื่องยาก ซึ่งนำเอาประโยชน์ที่ควรได้มาเฉลี่ยตามสัดส่วนใครได้ประโยชน์มากก็เสียค่าใช้จ่ายมาก ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง หากแอร์พอร์ตลิงก์สามารถดำเนินการพัฒนาระบบได้ก็ไปดำเนินการ เพราะเป็นเรื่องดีอยู่แล้ว”

              

 

 

  นายเผด็จ ประดิษฐ์เพชร ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการระบบตั๋วร่วม ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบของทั้ง 2 บริษัท เบื้องต้นการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้พัฒนาการใช้บัตรโดยสารข้ามระบบของรถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงินและสายสีม่วงเพื่อรองรับการใช้บัตรแมงมุมและบัตรโดยสาร MRT ส่วนบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส เป็นผู้พัฒนาระบบในส่วนของสายสีเขียวเพื่อรองรับการใช้บัตรแรบบิท คาดว่าจะเริ่มใช้ระบบตั๋วร่วมได้ภายในสิ้นปีนี้ หรือช้าสุดภายในต้นปี 2564 ส่วนการศึกษาอัตราค่าโดยสารข้ามระบบนั้น ขณะนี้จะใช้เรทอัตราค่าโดยสารตามปกติที่ดำเนินการในปัจจุบัน

                จากนี้ต้องจับตาดูว่าระบบตั๋วร่วมจะได้ใช้บริการภายในปีหน้าหรือไม่ หรือจะล่มซํ้าซ้อนอีกครั้ง ถือเป็นผลงานวัดใจกระทรวงคมนาคม ยุค ศักดิ์สยาม ชิดชอบ

หน้า 7 ฉบับ 3630