"พีพีทาวเวอร์" ร่วมชิงเค้กโรงไฟฟ้าชุมชนโครงการนำร่อง 150 เมกะวัตต์

09 ส.ค. 2564 | 14:09 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ส.ค. 2564 | 21:08 น.

พีพีทาวเวอร์ร่วมเข้าประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากโครงการนำร่อง 150 เมกะวัตต์ ตั้งเป้าผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ภายในปีนี้

นายศรัณย์ ตันวัฒนะพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลาสม่า เพียวริตี้ พาวเวอร์ จำกัด หรือพีพีพาวเวอร์ (PPPower) เปิดเผยว่า บริษัทได้เข้าร่วมประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) พ.ศ. 2564 จำนวน 150 เมกะวัตต์ ตั้งเป้าหมายผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ภายในปีนี้ พิจารณาคัดเลือกโดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งล่าสุดโรงไฟฟ้าชุมชนก๊าซชีวภาพจากหญ้าเนเปียร์ขนาดรวม 6 เมกะวัตต์ จำนวน 2 โครงการ ใน อ.สว่างวีระวงศ์ และ อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ได้ผ่านการพิจารณารอบเทคนิค หลังจากนี้อยู่ระหว่างรอการเปิดซองราคาในวันที่ 9 กันยายน 2564
นอกจากนี้ พีพีพาวเวอร์ยังมี บริษัท บุญ เอนเนอร์ซิส จำกัด ที่เป็นบริษัทในเครือ ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพจากหลุมฝังกลบขยะขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 6.24 เมกะวัตต์ และจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เป็นเวลามากกว่า 1 ปีแล้ว ซึ่งโครงการตั้งอยู่ภายในสถานกำจัดขยะมูลฝอยขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี (อบจ.นนทบุรี) อ. ไทรน้อย จ. นนทบุรี ที่รองรับขยะมูลฝอยชุมชนจากประมาณ 40 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วจังหวัดนนทบุรี ปริมาณกว่า 1,500 ตันต่อวันมากำจัด โดยปัจจุบันบริษัทได้บริหารจัดการระบบการผลิตที่มีประสิทธิภาพทำให้ช่วยลดมลภาวะต่างๆที่มีอยู่เดิมได้ เช่น กลิ่น หรือ น้ำเสีย เป็นต้น

นายศรันย์ กล่าวอีกว่า โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพจากหญ้าเนเปียร์ 1.2 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าต้นแบบที่ จ.อุบลราชธานี  ได้ตั้งเป้าหมายให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านกระบวนการผลิตไฟฟ้าด้วยก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงานของประเทศไทย ด้วยการคิดค้นนวัตกรรมเทคโนโลยีและการบริหารจัดการรวมที่พิสูจน์ประสิทธิผลในภาคอุตสาหกรรม เป็นโครงการนำร่องต้นแบบแรกที่ผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและดำเนินการผลิตมาตลอดต่อเนื่องกว่า 8 ปีแล้ว จนกลายเป็นโมเดลศึกษาของการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนระหว่างโรงไฟฟ้าและชุมชนรอบข้าง
ทั้งนี้ ปัจจุบันพีพีพาวเวอร์ได้สร้างและพัฒนาโมเดลอย่างครบวงจรในโครงการต้นแบบ ด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรในชุมชนปลูกหญ้าเนปียร์ส่งโรงไฟฟ้าในรูปแบบเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) เพื่อให้ชุมชนได้ปลูกหญ้าเนเปียร์มาขายเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้าในราคาประกัน ทำให้ชุมชนมีรายได้ที่มั่นคง กำจัดปัญหาความผันผวนด้านการตลาดและราคาที่สามารถเกิดขึ้นได้ในการผลิตสินค้าเกษตรชนิดอื่นๆ รวมทั้งเป็นต้นแบบการบริหารจัดการแปลงเกษตรขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่ด้วยเครื่องจักรและอุตสาหกรรมการเกษตร เพื่อลดต้นทุน และการแจกจ่ายปุ๋ยน้ำและปุ๋ยแห้งอินทรีย์ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากโรงไฟฟ้า ทำให้สมาชิกเกษตรกรลดและเลิกการใช้สารเคมีทุกชนิด

"พีพีพาวเวอร์ตั้งเป้าหมายจะเป็นแหล่งเรียนรู้โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพจากหญ้าเนเปียร์ สำหรับภาครัฐหรือเอกชน เพื่อที่จะทำให้โครงการเช่นเดียวกันนี้เกิดขึ้นในชุมชนต่างๆของประเทศไทย โดยบริษัทฯ มีความพร้อมในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการบริหารจัดการโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนอย่างครบวงจรและพร้อมเดินร่วมกับเจ้าของโครงการและชุมชนต่างๆ เพื่อความมั่นใจว่าโครงการจะเกิดประสิทธิผลอย่างสมบูรณ์"