E-Service platform สมรภูมิดุเดือด (ตอน 3) รายใหญ่ใช้อำนาจจำกัดการแข่งขัน

01 ส.ค. 2564 | 15:16 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ส.ค. 2564 | 23:55 น.

ดร.อัครพล ฮวบเจริญ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขัน(สขค.)เขียนบทความ E-Service platform สมรภูมิดุเดือดตอนที่ 3 ระบุมีการใช้อำนาจเหนือตลาดของธุรกิจแพลตฟอร์มตลาดซื้อขายสินค้าออนไลน์

ดร.อัครพล  ฮวบเจริญ

 

ทั้งนี้การใช้อำนาจเหนือตลาดของธุรกิจแพลตฟอร์มตลาดซื้อขายสินค้าออนไลน์อาจเกิดขึ้นในลักษณะการใช้อำนาจของผู้ซื้อรายใหญ่ (Buyer Power) ในการบีบบังคับหรือกดราคาอย่างไม่เป็นธรรม สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อธุรกิจแพลตฟอร์มนั้นอยู่ในสถานะ “Gatekeeper” ที่สามารถควบคุมทิศทางการแข่งขันในตลาดและการเข้าสู่ตลาดนี้ได้เกือบทั้งหมด หรือเป็นผู้ซื้อรายใหญ่รายเดียวในตลาด โดยลักษณะเช่นนี้มีความคล้ายคลึงกับการค้าในอดีต ทั้งนี้โดยปกติกฎหมายแข่งขันทางการค้าสามารถจัดการกับการใช้อำนาจเหนือตลาดในลักษณะนี้ได้อยู่แล้วและไม่จำเป็นต้องปรับหรือแก้ไขกฎหมายเป็นการเฉพาะ

 

การรุกคืบในแนวดิ่ง (Vertical Integration) เป็นสิ่งที่ต้องการความสนใจอย่างยิ่ง เนื่องด้วยความได้เปรียบเรื่องข้อมูลการค้าที่ธุรกิจแพลตฟอร์มเป็นเจ้าของและมีความได้เปรียบ จึงทำให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มตลาดซื้อขายสินค้าออนไลน์จึงผันตัวเองมาเป็นผู้เล่นในตลาดซื้อขายออนไลน์ด้วยเพื่อหวังที่จะรวบกำไรที่เกิดขึ้นจากการขายสินค้าบทแพลตฟอร์มมาเป็นของตัวเองให้ได้มากที่สุด ในลักษณะนี้

 

จะเห็นได้ชัดเจนว่า ธุรกิจแพลตฟอร์มตลาดซื้อขายสินค้าออนไลน์ อาจกระทำการไม่เป็นธรรมในลักษณะใช้สื่อโฆษณาบนแพลตฟอร์มของตัวเองเพื่อดึงยอดขายจากร้านค้าอื่น ๆ มาสู่ร้านค้าของตนเอง และการกีดกันผู้บริโภคในการเข้าถึงร้านค้าอื่น ๆ เพื่อเพิ่มยอดขายของร้านค้าตนเอง หรือเรียกว่า“Consumer Foreclosure” เช่น การใช้อัลกอริทึม ในการค้นหาสินค้าที่เอนเอียงมายังร้านค้าของตนเองในลักษณะ Top Search เป็นต้น

 

ทั้งนี้การกระทำลักษณะนี้ถือว่าเป็นการจำกัดการแข่งขันในตลาดซื้อขายสินค้าออนไลน์ที่ธุรกิจแพลตฟอร์มเป็นผู้บริหารจัดการอยู่อย่างไม่เป็นธรรม และสุดท้ายแล้วธุรกิจร้านค้าจะถูกรุกคืบจากแนวดิ่งและถูกกีดกันออกจากตลาดไปในที่สุด

 

การเสนอบริการแบบขายพ่วง (Bundling) นิยมนำมาใช้เพื่อเพิ่มกำไรให้กับธุรกิจแพลตฟอร์มตลาดซื้อขายสินค้าออนไลน์เช่นกัน ลักษณะที่มักใช้คือการรวมระบบการชำระเงิน (Payment System) และบริการขนส่งสินค้า (Delivery Service) ซึ่งหากเป็นการบังคับให้ร้านค้าบนแพลตฟอร์มจำเป็นต้องใช้ระบบการชำระเงินและบริการขนส่งสินค้าจากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มแต่เพียงผู้เดียวอาจจะถือเป็นการจำกัดการแข่งขันทางการค้าได้ ซึ่งมีผลต่อประสิทธิภาพของตลาดที่เกี่ยวเนื่องกับตลาดซื้อขายสินค้าออนไลน์

 

ลักษณะสุดท้าย คือ การกีดกันผู้เล่นรายอื่น ๆ จะเข้าสู่ตลาดแพลตฟอร์มตลาดซื้อขายสินค้าออนไลน์ผ่านการกำหนด Price Parity Clause ซึ่งบังคับให้ผู้ค้าไม่สามารถกำหนดราคาตํ่ากว่าที่กำหนดไว้ในแพลตฟอร์มในช่องทางการจำหน่ายอื่น ๆ ซึ่งจะมีผลต่อการแข่งขันในค่าคอมมิชชั่น (Gross Profit: GP) เมื่อผู้แข่งขันในแพลตฟอร์มตลาดซื้อขายสินค้าออนไลน์จะเข้าสู่ตลาดโดยเสนอค่าคอมมิชชั่นให้แก่ร้านค้าในระดับตํ่ากว่าแพลตฟอร์มรายใหญ่รายเดิมในตลาด จึงทำให้ร้านค้าไม่สามารถกำหนดราคาขายสินค้าที่ต่างกันได้แต่ละแพลตฟอร์มแม้ว่าจะได้รับข้อเสนอค่าคอมมิชชั่นที่ตํ่ากว่าจากแพลตฟอร์มรายใหม่ จึงทำให้ผู้ซื้อสินค้าไม่มีแรงจูงใจกระโดดข้ามหรือเปลี่ยนแพลตฟอร์มในการซื้อสินค้าตามที่ต้องการได้

 

ดังนั้น จะเห็นว่าการใช้อำนาจเหนือตลาดของธุรกิจแพลตฟอร์มตลาดซื้อขายสินค้าออนไลน์มีความหลายหลาย เริ่มตั้งแต่การบีบบังคับด้านราคาโดยอาศัยอำนาจของผู้ซื้อรายใหญ่ซึ่งธุรกิจให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มสูงที่เป็นเป็นผู้เล่นรายใหญ่อันเกิดจากลักษณะโดยธรรมชาติของธุรกิจประเภทนี้อยู่แล้ว การรุกคืบในแนวดิ่งและการควบรวมตลาดเพื่อกีดกันผู้เล่นในตลาดอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับแพลตฟอร์มตลาดซื้อขายสินค้าออนไลน์ออกจากห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งสุดท้ายธุรกิจแพลตฟอร์มจะสามารถกินรวบตลาดได้ทั้งหมด และสุดท้ายเป็นพฤติกรรมที่ใช้สำหรับกีดกันไม่ให้เกิดผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่ตลาดฟอร์มตลาดซื้อขายสินค้าออนไลน์ผ่านการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ค้าบทแพลตฟอร์มต้องปฏิบัติตาม เช่น การกำหนด Price Parity Clause เป็นต้น  

E-Service platform สมรภูมิดุเดือด (ตอน 3) รายใหญ่ใช้อำนาจจำกัดการแข่งขัน           

 

นอกจากการใช้อำนาจเหนือตลาดในการรักษาสถานการณ์ความได้เปรียบในการแข่งแข่งขันของผู้เล่นในธุรกิจให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว การควบรวมธุรกิจ (Merger) ก็ยังเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาหารือกันในวงกว้างสำหรับแนวทางในการกำกับการแข่งขันให้เสรีและเป็นธรรม เนื่องจากธรุกิจประเภทนี้ต้องอาศัยผลกระทบจากเครือข่าย(Network Effect) เพื่อให้การประกอบธุรกิจที่ต้องลงทุนจำนวนมากเกิดความคุ้มทุนและได้การประหยัดจากขนาดและขอบเขต (Economies of Scale and Scope)

 

แนวทางที่ธุรกิจนิยมเลือกมาใช้เพื่อเป็นทางลัดคือ การควบรวมธุรกิจ ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์กระจุกตัวเร็วยิ่งขึ้นเข้าไปอีก และย่อมนำมาซึ่งความกังวลต่อใช้อำนาจเหนือตลาดและการกำกับการแข่งขันเสรีและเป็นธรรม

 

E-Service platform สมรภูมิดุเดือด (ตอน 3) รายใหญ่ใช้อำนาจจำกัดการแข่งขัน

 

ผู้เชี่ยวชาญด้านการแข่งขันทางการค้าจาก United Nations Conference on Trade and Development (UNCTAD) ได้ให้ข้อแนะนำที่น่าสนใจอย่างยิ่ง คือ การกำกับการแข่งขันทางการค้าในธุรกิจให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญในการกำกับดูแลการควบรวมธุรกิจมากยิ่งขึ้นนอกเหนือจากการกำกับเชิงพฤติกรรมการแข่งขันในธุรกิจนี้ ซึ่งคำแนะนำหนึ่งที่ผู้เชี่ยวชาญเน้นย้ำคือ การปรับเกณฑ์เชิงมูลค่าธุรกิจที่จะเข้าข่ายการยื่นขออนุญาตการควบรวมธุรกิจ

 

โดยเฉพาะหน่วยงานกำกับการแข่งขันในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมีกรณีศึกษาจากกรณีการควบรวมธุรกิจของ Uber และ Grab ซึ่งให้บริการในภูมิภาคอาเซียน โดยจะเป็นการเปิดช่องทางของหน่วยงานกำกับการแข่งขันทางการค้าในประเทศอาเซียนที่จะเข้ามาดูแลและกำกับเชิงโครงสร้างของธุรกิจให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นโดยในบทความนี้จะยังไม่ขอลงในรายละเอียด เนื่อง จากมีเนื้อหาและประเด็นพิจารณาที่มากและซับซ้อน

 

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่อยากเน้นยํ้าคือ การกำกับการแข่งขันในธุรกิจให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ให้มีประสิทธิภาพจำเป็นที่จะต้องเน้นทั้งการกำกับการแข่งขันทางกฟารค้าในมิติเชิงพฤติกรรมและเชิงโครงสร้างควบคู่ไปพร้อมๆ กัน เนื่องด้วยลักษณะโดยธรรมชาติของธุรกิจนี้มักจะมีโครงสร้างตลาดที่กระจุกตัวอยู่แล้ว การกำกับจึงต้องสามารถป้องกันการกระจุกตัวที่เพิ่มขึ้นจากการควบรวมธุรกิจ และป้องกันพฤติกรรมการใช้อำนาจเหนือตลาดที่อาจจะขยายอำนาจเหนือตลาดไปยังตลาดที่เกี่ยวเนื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพไปพร้อม ๆ กัน

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3701 วันที่ 1-4 ส.ค. 2564