เปิดหลักเกณฑ์ใบอนุญาตขายเมล็ดพันธุ์ “กัญชา-กัญชง” ทุกขั้นตอน คลิกเดียว

09 ก.ค. 2564 | 09:18 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.ค. 2564 | 16:18 น.
7.2 k

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดหลักเกณฑ์ ใบอนุญาตขายเมล็ดพันธุ์ “กัญชา-กัญชง” น้องใหม่ พืชควบคุม พ.ศ. 2518 ลำดับที่34 ครบทุกขั้นตอน ง่ายๆ แค่คลิกเดียว ใครก็ทำได้ ไม่ยาก ส่วนอนาคต "กัญชา" ค้าขายแทบเป็นศูนย์ เพราะอะไร อ่านคำตอบได้ที่นี่ ที่เดียว

ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดและชื่อพันธุ์ของเมล็ดพันธุ์ให้เป็นเมล็ดพันธุ์ควบคุม พ.ศ. 2556 ได้กำหนดไว้ 33 ชนิดพืช  ล่าสุด มีน้องใหม่ลำดับที่ 34 บรรจุเป็นพืชควบคุม “กัญชา-กัญชง” ราชกิจจานุเบกษา  ประกาศ  ณ วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2564  ลงนาม  มนัญญา ไทยเศรษฐ์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศเป็นเพิ่ม “กัญชา กัญชง”  ลำดับที่ 34 เป็นเมล็ดพันธุ์ควบคุมใช้กลไกแห่งพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518

 

ควบคุมการรวบรวม ขาย นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านเมล็ดพันธุ์ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่ง พระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และมาตรา 12  แห่งพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติพันธุ์พืช (ฉบับที่ 2)  พ.ศ. 2535 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

 

ข้อ 1 ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิด และชื่อพันธุ์ของเมล็ดพันธุ์ให้เป็นเมล็ดพันธุ์ควบคุม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564”

 

ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 60 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา  เป็นต้นไป

 

ข้อ 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นลำดับที่ 34 แห่งประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เรื่อง กำหนดชนิดและชื่อพันธุ์ของเมล็ดพันธุ์ให้เป็นเมล็ดพันธุ์ควบคุม พ.ศ. 2556 ลงวันที่ 22 เมษายน 2556

 

เปิดหลักเกณฑ์ใบอนุญาตขายเมล็ดพันธุ์ “กัญชา-กัญชง” ทุกขั้นตอน คลิกเดียว

 

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดี กรมวิชาการเกษตร เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ประกาศดังกล่าวนี้ เป็นเรื่องเมล็ดพันธุ์ควบคุม กรมวิชาการเกษตร ได้บรรจุพันธุ์ควบเมล็ดพันธุ์เพิ่ม เดิม มี 33 เมล็ดพันธุ์ ล่าสุด มี “กัญชา-กัญชง” เข้ามา โดยทั้ง 2 พืช เดิมเป็นพืชยาเสพติด แล้วก็มีการปลดล็อก ให้มีการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ก็จำเป็นที่จะต้องมีการควบคุม ก็ต้องยึดตามประกาศของ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 

โดยในตัวประกาศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  "กัญชา กัญชง"  (Cannabis Sativa) ทุกสายพันธุ์ ให้มีอัตราการงอกไม่ต่ำกว่า 70%  และความบริสุทธิ์ไม่ต่ำกว่า 99% (หมายถึงมีเศษขี้ดิน เศษขี้ฝุ่นต่างๆ น้อยกว่า 1% ของเมล็ดพันธุ์ทั้งหมด) ใครที่จะรวบรวม หรือนำมาจำหน่าย หรือ ขายเมล็ดพันธุ์ จะต้องถูกควบคุมด้วยคุณภาพ เหมือนเมล็ดพันธุ์ทั่วไปที่จะนำมาจำหน่ายจะต้องไปขึ้นทะเบียนผู้ค้า ผู้จำหน่าย ก็จะต้องรับในการตรวจสอบในเรื่องพวกนี้

 

“ทาง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา ไปแล้ว จะบังคับเมื่อพ้น 60 วัน ซึ่งไม่ได้บังคับทันที แต่จะมาบังคับกฎหมาย หลัง 10 สิงหาคมนี้  เป็นต้นไป หากใครจะนำ "เมล็ดพันธุ์กัญชง-กัญชา" มาจำหน่าย จะต้องเป็นไปตามประกาศนี้ อาทิ มาตรฐานเมล็ดพันธุ์ และอัตราการงอก เป็นต้น  โดยทั้ง 2 พืชนี้  ทั้ง "กัญชง" และ "กัญชา" แต่ "กัญชา" จะปลูกไม่ได้โดยปริยายอยู่แล้ว


 

“กัญชา”  ถูกควบคุมด้วยกฎหมายของ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เมล็ดเป็นยาเสพติด คนที่จะขายและได้รับอนุญาตครอบครอง จะน้อยมาก หรือแทบไม่มีเลย ส่วนใหญ่จะแบบแบ่งปันกัน ไม่ใช่เข้าข่ายในการรวบรวมขาย ส่วน “กัญชง” เปิดอิสระ สามารถที่จะสั่งนำเข้าจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายได้ ดังนั้นสิ่งที่กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ป้องกันการเอารัดเอาเปรียบเกษตรกรในการซื้อเมล็ดพันธุ์เอาไปปลูกจะได้มีคุณภาพ อย่างน้อยจะได้ตรวจสอบย้อนกลับได้ ว่าผู้จำหน่ายเป็นใคร  เกษตรกรซื้อเมล็ดพันธุ์จากไหน

 

 

ดังนั้นผู้ที่จะค้าขายเมล็ดพันธุ์ควบคุม “กัญชา กัญชง” จะต้องมาขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร ในเรื่องขายเมล็ดพันธุ์ แต่ “กัญชา” ยังเกิดไม่ได้ เพราะจะควบคุมโดยกฎหมายของ อย.  “เกษตรกร”  สามารถขออนุญาตปลูกกัญชาได้ โดยการรวมกลุ่มกันจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม “ สหกรณ์การเกษตร “” และขออนุญาตร่วมกับหน่วยงานของรัฐในการปลูกจะต้องไปจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจก่อน

 

เมื่อจดทะเบียน วิสาหกิจชุมชน ที่จดทะเบียนแล้วร่วมกับหน่วยงานของรัฐ (ที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัย หรือจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์ เภสัชศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือเกษตรศาสตร์ หรือมีหน้าที่ให้บริการทางการแพทย์ เภสัชกรรม หรือวิทยาศาสตร์ หรือมีหน้าที่ให้บริการทางเกษตรกรรม เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ หรือเภสัชกรรม หรือมีหน้าที่ในการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด)  ถึงจะ ยื่นขออนุญาตผลิต (ปลูก) ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา และเมื่อได้รับอนุญาตแล้ว นำไปอนุญาตให้ผลิต (ปลูก) ถึงจะปลูกได้

 

ส่วน “กัญชง” เกษตรกร ไม่ต้องรวมจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจ แยกปลูกเป็นรายบุคคลได้ แต่ต้องขออนุญาตจาก อย.ก่อน เพื่อนำเข้าเมล็ดพันธุ์ เมื่อ อย.อนุมัติแล้ว จะส่งเรื่องมาที่กรมวิชาการเกษตร  และ เมื่อ อย.อนุญาต เราถึงจะอนุญาตตาม โดยกรมวิชาการเกษตรจะควบคุมคุณภาพเมล็ดพันธุ์เท่านั้นเอง กรมวิชาการเกษตร มีหน้าที่ควบคุมเมล็ดพันธุ์ให้มีคุณภาพ

 

ก่อนหน้านี้ มีเมล็ดพันธุ์ควบคุมที่กรมวิชาการเกษตรประกาศมาแล้ว 32 สายพันธุ์ ไม่ใช่เรื่องใหม่ จะกำกับผู้ค้าเมล็ดพันธุ์ให้จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ทั่วไปให้มีคุณภาพให้กับเกษตรกร หรือผู้ที่สนใจจะปลูกกัญชา กัญชง โดยทั้ง 2 ชนิดนี้ จะต้องไปขึ้นทะเบียนกับ อย.ก่อน แล้วถึงจะนำหลักฐานมาให้กับกรมวิชาการเกษตรเพื่อขึ้นเป็นผู้ค้า ตามกฎหมายของเมล็ดพันธุ์ควบคุม

 

เปิดหลักเกณฑ์ใบอนุญาตขายเมล็ดพันธุ์ “กัญชา-กัญชง” ทุกขั้นตอน คลิกเดียว

 

 

“ตอนนี้ยังไม่มีใครมาขึ้นทะเบียน ยังค้าขายปกติ เนื่องจากกฎหมายยังไม่ได้บังคับ และต้องไปยื่นขออนุญาตจาก อย.ก่อน เสร็จแล้วกรมวิชาการเกษตร ก็แค่อำนวยความสะดวก สามารถยื่นผ่านออนไลน์ได้ แนบเอกสารที่ไปยื่นกับ อย. ส่งมาให้ กรมวิชาการเกษตรจะรับขึ้นทะเบียนเพื่อที่จะทำการค้า ย้ำว่ากฎหมายนี้ยังไม่มีผลบังคับจะมีผลบังคับหลังวันที่ 10 สิงหาคม 2564 วันนี้ยังขายปกติ แต่ถ้าหลังวันที่ 10 สิงหาคมนี้ ผู้ค้าเมล็ดพันธุ์จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย”

 

นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ต้องไปขอเป็นขั้นพื้นฐานอยู่แล้วที่จะต้องขออนุญาต แต่ถ้าคุณจะมาค้าขายหลังวันที่ 10 สิงหาคม นี้จะต้องมาขออนุญาตที่กรมวิชาการเกษตร เพื่อเป็นผู้รวบรวมและขายเมล็ดพันธุ์ ทั้งตัวเมล็ดพันธุ์และตัวพันธุ์พืช ในประกาศนี้  “เมล็ดพันธุ์กัญชา กัญชง ” หมายความว่า เมล็ด หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของกัญชา กัญชง ที่ใช้เพาะปลูกหรือใช้ทำพันธุ์ และหมายความรวมถึงต้นอ่อนหรือต้นกล้า (Seedling ) ที่งอกจากเมล็ด หรือเกิดจากการเพาะเลี้ยงด้วยวิธีอื่นด้วย

 

“สถานที่รวบรวมเมล็ดพันธุ์กัญชา กัญชง ” หมายความว่า ที่ อาคาร หรือส่วนของอาคาร โรงเรือน โรงเพาะชำ แปลงเพาะชำต้นกล้า และให้หมายความรวมถึงบริเวณของสถานที่ใช้รวบรวม ผลิต หรือแบ่งบรรจุเมล็ดพันธุ์กัญชา กัญชงด้วย ข้อ 4 ผู้ขอรับใบอนุญาตรวบรวมเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้า


 

สำหรับ เมล็ดพันธุ์กัญชา กัญชง ต้องมีคุณสมบัติอื่นเพิ่มเติม ดังนี้ มีสถานที่รวบรวมและเก็บ เมล็ดพันธุ์กัญชา กัญชง และเป็นผู้ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ว่าด้วยยาเสพติดให้โทษจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา  (อย.) โดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ควบคุมยาเสพติดให้โทษ แต่ประกาศฉบับนี้มิให้ใช้บังคับแก่ผู้ปลูกเมล็ดพันธุ์ซึ่งขายเมล็ดพันธุ์ที่ตนปลูกเองให้แก่ผู้รับใบอนุญาตรวบรวมเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้า หรือผู้ปลูกเมล็ดพันธุ์รายอื่นโดยไม่มีการโฆษณา

 

อย่างไรก็ดีอธิบดี กรมวิชาการเกษตร กล่าวย้ำว่า หลังวันที่ 10 สิงหาคมที่จะถึงนี้ ใครที่จะรวบรวม หรือจัดหาเมล็ดพันธุ์กัญชง กัญชามาจำหน่าย นอกจากจะไปขออนุญาต อย.แล้ว จะต้องมาขออนุญาตเป็นผู้ขายเมล็ดพันธุ์ ที่กรมวิชาการเกษตร ซึ่งจะต้องทำตามประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในเรื่องคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ที่นำมาขาย

 

อนึ่ง พระราชบัญญัติพันธ์พืช พ.ศ.2518 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.พันธ์พืช (ฉบับที่2) พ.ศ.2535 (ฉบับที่3) พ.ศ.2550  มีโทษดังนี้

 

1. จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ควบคุมโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4,000 บาทหรือ ทั้งจำทั้งปรับ

 

2. จำหน่ายเมล็ดพันธ์ปลอม  มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่ เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

3. จำหน่ายเมล็ดพันธุ์เสื่อมคุณภาพ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

4. ไม่ติดแสดงใบอนุญาตในที่เปิดเผย มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท

 

หลักฐานที่ใช้ประกอบคำขอใบอนุญาต ขายเมล็ดพันธุ์ควบคุม

 

1. แบบคำขอ พพ.1

2. สำเนาบัตรประชาชน

3. สำเนาทะเบียนบ้าน

- สัญญาเช่ากรณีเป็นพื้นที่เช่า

4. สำทะเบียนพาณิชย์

5. ค่าธรรมเนียม 100 บาท/ปี