ส่องความคืบหน้า ประมูล “ทางด่วนขั้น3 สายเหนือ” 1.4 หมื่นล้าน

08 ก.ค. 2564 | 14:00 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.ค. 2564 | 22:21 น.
1.1 k

กทพ.เตรียมประมูลทางด่วนขั้น 3 ช่วง N2 วงเงิน 1.4 หมื่นล้านบาท พร้อมฐานรากสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลของรฟม. เล็งชงครม.ไฟเขียว คาดก่อสร้างภายในปีนี้ ขณะที่ช่วง N1 อยู่ระหว่างศึกษาแนวเส้นทางทดแทน 3 แนวทาง หลังม.เกษตรฯ ค้าน

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า  ความคืบหน้าโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ช่วงทดแทน N1 และ N2 เชื่อมเกษตร – นวมินทร์ - ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันออก  ปัจจุบันโครงการดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนรอบรรจุเข้าวาระการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่ง กทพ.มีเป้าหมายที่จะเร่งผลักดันการประกวดราคาโครงการดังกล่าว และเริ่มงานก่อสร้างให้เกิดขึ้นภายในปีนี้ เนื่องจากเป็นโครงการทางด่วนสายนี้ เป็นโครงการที่ต้องใช้เงินลงทุนจากกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (TFF) วงเงินประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท มีจัดสรรวงเงินมาแล้วราว 2 ปี แต่เนื่องจากยังไม่มีการประกวดราคา และเริ่มเบิกจ่ายงบประมาณเริ่มก่อสร้าง ส่งผลให้ กทพ.ต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยราว 1.3 พันล้านต่อปี ดังนั้นมีความจำเป็นต้องเร่งดำเนินการ

 


“ช่วง N2 ที่เราจะประมูลก่อนนี้ แนวเส้นทางคร่อมไปกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล (แคราย - ลำสาลี) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน การจราจรต่างๆ กระทรวงฯ จึงมีนโยบายให้สร้างฐานรากไปพร้อมกันทั้งสองโครงการ ดังนั้นจะมีการประกวดราคาหาผู้รับเหมาสร้างงานฐานรากทั้งสองโครงการพร้อมกัน โดยการทางฯ จะเป็นผู้ประกวดราคารวมในโครงการ N2”
 

 นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า กทพ.จะประกวดราคาจัดหาผู้รับเหมาก่อสร้างทางด่วน N2 รวมสร้างฐานรากรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ประเมินวงเงินส่วนของรถไฟฟ้าราว 1.7 พันล้านบาท โดย รฟม.จะดำเนินการกู้เงินจากสำนักงบประมาณมาชำระค่างานก่อสร้างดังกล่าว และหลังเปิดประกวดราคาจัดหาเอกชนร่วมลงทุนรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลแล้ว เอกชนผู้ชนะการประมูลจะเป็นผู้ชำระค่างานฐานรากภายหลัง

 


ขณะเดียวกันโครงการดังกล่าวแบ่งงานก่อสร้างออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ช่วง N2 และ E-W Corridor ถนนเกษตร – นวมินทร์ - วงแหวนตะวันออก ระยะทาง 11.3 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 1.4 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมีความพร้อมดำเนินการก่อน ตามแผนคาดว่าจะเปิดประมูลและเริ่มงานก่อสร้างภายในปี 2564 ส่วนระยะที่ 2 ช่วง N1 ผ่าน ม.เกษตรศาสตร์ ยังอยู่ระหว่างศึกษาแนวเส้นทางทดแทน
 

รายงานข่าวจาก กทพ. เผยว่า โครงการทางด่วนขั้นที่ 3 ช่วง N2 จะมีจุดเริ่มต้นโครงการ ทางขึ้น – ลงแห่งที่ 1 อยู่บริเวณถนนเกษตร – นวมินทร์ เลยทางลอดอุโมงค์เกษตรปัจจุบันมาราว 200 เมตร หรืออยู่ช่วงก่อนถึงตึก RS หลังจากนั้นแนวเส้นทางจะคร่อมไปตามถนนเกษตร - นวมินทร์ ก่อนจะเป็นทางแยกเชื่อมไปยังทางต่างระดับฉลองรัช และไปสิ้นสุดโครงการเชื่อมเข้าสู่มอเตอร์เวย์ สาย 9

 


สำหรับการศึกษาแนวเส้นทางทดแทนทางด่วนช่วง N1 เบื้องต้นออกแบบไว้ 3 แนวทาง คือ 1. ทางยกระดับผ่านหน้า ม.เกษตรฯ แบบเดิม โดยใช้แนวถนนงามวงศ์วาน มาทางคลองเปรมประชากร-ทางด่วนศรีรัช ระยะทาง 7.1 กม. วงเงินลงทุนราว 2 หมื่นล้านบาท จะใช้พื้นที่ใน ม.เกษตรฯ ประมาณ 180 ตารางเมตร  2. อุโมงค์ทางด่วน ระยะทาง 4.8 กม. จากแยกรัชวิภาผ่านหลังเมเจอร์รัชโยธินเชื่อมต่อโครงการ Missing Link สิ้นสุดที่แยกเกษตร วงเงินลงทุนราว 3.1 หมื่นล้านบาท และ 3. อุโมงค์ทางด่วนผ่านหน้า ม.เกษตรฯ บริเวณแยกบางเขน สิ้นสุดแยกประชาชื่น ระยะทาง 11.3 กม. จัดใช้วงเงินราว 1 แสนล้านบาท