หอการค้าฯค้านตั้งสายเดินเรือแห่งชาติ ผวาอดีตเคยล้มเหลว

07 ก.ค. 2564 | 09:12 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.ค. 2564 | 18:31 น.
794

หอการค้าไทย ย้ำจุดยืน “ค้าน” ตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ หลังอดีตเคยล้มเหลวไม่มีเรือของตัวเอง ชี้ใช้กลไก บดท เหมาะกว่า ขณะสนับสนุนให้มี “กองเรือของชาติ” ส่งเสริมกองเรือและอุตสาหกรรมพาณิชยนาวีไทย ให้แข่งขันได้อย่างเท่าเทียมบนเวทีโลก

 กรณีกระทรวงคมนาคม มีนโยบาย ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติขึ้นมาใหม่ รวมถึงการจัดตั้ง บริษัท สายการเดินเรือแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมศักยภาพให้กับเรือไทยและอุตสาหกรรมพาณิชยนาวีไทยนั้น

นายภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และ ประธานคณะกรรมการ Logistics & Supply Chain เผยว่า ในมุมมองของหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มีความยินดีที่ภาครัฐเล็งเห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมและพัฒนาการขนส่งทางทะเลให้มีศักยภาพและแข่งขันได้ แต่จากบริบทปัจจุบัน หอการค้าไทยฯ ไม่เห็นด้วย ในการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ และการตั้ง บริษัท สายเดินเรือแห่งชาติ จำกัด เนื่องจากในอดีตช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลก็ได้มีการตั้งรัฐวิสาหกิจที่มีชื่อว่า บริษัท ไทยเดินเรือทะเล จำกัด และในช่วง 20 ปี ก่อนที่บริษัทดังกล่าวจะปิดกิจการ บริษัทฯ ไม่มีเรือที่เป็นของตัวเองเลย แต่เป็นการใช้สิทธิประโยชน์จากการเป็นรัฐวิสาหกิจไปจ้างเดินเรือของต่างชาติขนส่งสินค้ารัฐบาลแทน 

ต่อมา ได้มีการจัดตั้งเป็น บริษัท บทด จำกัด แทน โดยรัฐบาลถือหุ้น 30% เอกชนกว่า 20 บริษัทถือหุ้นอีก 70% ปัจจุบันมีเรือ 3 ลำ ซึ่ง บริษัท บทด จำกัด ตั้งขึ้นเพื่อประกอบธุรกิจเดินเรือทะเล โดยดำเนินธุรกิจ 4 ธุรกิจ ประกอบด้วย 1) ธุรกิจเรือขนส่งน้ำมันและปิโตรเคมี (Tanker)  2) ธุรกิจเรือ BULK และ Container 3) ธุรกิจการขนส่งชายฝั่ง (Coastal) และ4) ธุรกิจ Logistics ซึ่งตอนนี้ บริษัท บทด จำกัด ได้มีการสั่งซื้อเรือน้ำมันขนาดใหญ่ ความยาว 240 เมตร ความจุ 1.05 แสนตัน จะเข้ามาประเทศไทยในวันที่ 14 กรกฎาคมนี้แล้ว โดยให้บริการขนส่งน้ำมันกับ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นการสร้างรายได้เข้าประเทศครบวงจร กล่าวคือ บริษัทเดินเรือของไทย ให้บริการบริษัทน้ำมันของไทย การซ่อมเรือก็ทำที่อู่เรือไทย ดังนั้น จึงขอให้รัฐ ใช้กลไกที่มีอยู่แล้วคือ บริษัท บทด จำกัด จะเหมาะสมกว่า

หอการค้าฯค้านตั้งสายเดินเรือแห่งชาติ ผวาอดีตเคยล้มเหลว

 ขณะเดียวกันโดยทั่วไปค่าระวางเรือ ฝั่งการส่งออก ในสภาวะปกติ จะอยู่ที่ 7% ของมูลค่าสินค้า โดยประมาณ เท่ากับว่า ถ้าส่งสินค้าโดยเรือบริษัทไทย ขายสินค้า 100 บาท รายได้ก็จะเข้าประเทศ 100 บาท แต่ถ้าส่งสินค้าโดยเรือบริษัทต่างชาติ รายได้ก็จะเข้าประเทศ 93 บาท อีก 7 บาท ต้องจ่ายค่าระวางให้กับต่างประเทศ ในฝั่งการนำเข้า ค่าระวางเรือในสภาวะปกติ จะอยู่ที่ 4% ของมูลค่าสินค้า โดยประมาณ ถ้าสั่งของ 100 บาท โดยใช้เรือไทยบริษัทไทย ขนส่ง ประเทศไทยจะมีรายได้เข้ามา 4 บาท แต่ถ้าใช้เรือบริษัทต่างชาติ ประเทศไทยจะไม่มีรายได้เข้ามาเลย

 “หอการค้าไทยและสภาหอการค้าฯ ขอสนับสนุนให้มี “กองเรือของชาติ” ซึ่งกองเรือของชาติ คือเรือที่เป็นของบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทย ชักธงไทยบนเรือ และ ธุรกิจการเดินเรือเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันโดยเสรีกับนานาชาติ จึงขอให้ภาครัฐสนับสนุน กองเรือของชาติ เพื่อให้กองเรือไทยแข่งขันกับต่างชาติได้อย่างเท่าเทียม”

หอการค้าฯค้านตั้งสายเดินเรือแห่งชาติ ผวาอดีตเคยล้มเหลว

 นอกจากนี้รัฐบาลควรมีนโยบาย ยุทธศาสตร์ และมาตรการต่าง ๆ ในการส่งเสริมธุรกิจการขนส่งสินค้าทางทะเล และกิจการพาณิชยนาวี (ธุรกิจเดินเรือ ท่าเรือ และอู่ซ่อมและสร้างเรือ) ด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้อให้ผู้ประกอบการไทยภาคเอกชนสามารถแข่งขันได้ในระดับระหว่างประเทศประเทศ เพื่อใช้ภาคเอกชนเป็นกลไกหลักในการดำเนินการ เนื่องจาก ภาคเอกชนมีความคล่องตัวกว่าภาครัฐเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ และสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่รัฐจะไม่ทำธุรกิจแข่งขันกับภาคเอกชน

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,694 วันที่ 8 - 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2564