อัพเดทล่าสุด "ประกันรายได้ยางพารา" เฟส 3 ลุ้นมีหรือไม่ เช็กด่วน

06 ก.ค. 2564 | 14:10 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.ค. 2564 | 22:41 น.
3.7 k

เช็กด่วน บอร์ด กยท. อัพเดทล่าสุด ความคืบหน้า "ประกันรายได้ยางพารา" เฟส 3 ลุ้นมีต่อหรือไม่ ระบุอย่าคาดหวัง ไม่แน่ใจรัฐบาล จะมีเงินเพียงพอ "อุดหนุนเกษตรกร" หรือไม่ เพราะโควิดยังแรง พุ่งไม่หยุด

สุนทร รักษ์รงค์

สุนทร รักษ์รงค์ กรรมการ การยางแห่งประเทศไทย (บอร์ด กยท.) และ เลขาธิการ สภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”  เรื่องราคายางพาราไม่มีใครอยากพูดถึง มีแต่เจ็บตัว เพราะสังคมชาวสวนยางส่วนใหญ่ยังฝากชีวิตไว้กับรายได้จากการขายยางเพียงอย่างเดียวหลายคนเชื่อผม ทำตามแนวคิด “สวนยางยั่งยืนยืน” จึงไม่เดือดร้อนมาก บางคนเปลี่ยนจากการขายน้ำยางสดมาทำยางก้อนถ้วยและเข้าร่วมโครงการชะลอการขายยางก้อนถ้วยของ กยท.ที่ผมพูดไว้ผิดไหม

 

“วันนี้น้ำยางสดถูกกว่าขี้ยาง  ใครที่เคยด่าผมว่าบ้าหรือเปล่า ที่แนะนำให้เอาน้ำมาทำขี้ ตอนนี้เงียบฉี่ หนุกนิได้ด่าคนอื่นน้ำยางสดตัวเดียวที่ราคาเมื่อวานยังลดลง ยางก้อนถ้วยราคาสูงขึ้น เพราะอะไร เพราะน้ำยางสดที่แปรรูปเป็นน้ำยางข้นเพื่อส่งออกรายใหญ่มาเลเซียยังเจอสถานการณ์โควิด ปิดประเทศ โรงงานถุงมือเปิดบางส่วน แต่ยางก้อนถ้วยแปรรูปเป็นยางแท่งส่งออกไปจีนและที่อื่น จึงพอมีราคา”

 

นายสุนทร กล่าวว่า บางคนยังมีอีก คุณสุนทรให้เอาน้ำยางสดมาทำยางก้อนถ้วยชั่วคราว แต่ราคาน้ำยางสดไม่เห็นขึ้น จริงๆคนพูดน่ะเหมือนด่าตัวเอง เพราะตัวเองไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเลย ไม่ได้ทำ รอแต่ขายน้ำยางสด ตางค์สักแดงแรงไม่ออก แล้วจะด่าใคร ถ้าให้ความร่วมมือและเสียสละอย่างจริงจัง ราคาน้ำยางสดไม่ดิ่งอย่างนี้หรอก

 

“การยางแห่งประเทศไทย เขาก็ใช้ต้นทุนที่มีกำลังแก้ไขปัญหานี้อย่างเต็มที่ ราคายางคงโงหัวขึ้นได้บ้าง รอการแถลงข่าวของ กยท.เรื่องมาตรการแก้ไข ส่วนการเรียกร้องให้มีโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 3 ผมรายงานท่านรัฐมนตรีเฉลิมชัย ศรีออ่อน รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อพิจารณาแล้ว แต่อย่าคาดหวังเยอะ เพราะไม่รู้ว่ารัฐบาลในสถานการณ์โควิด จะมีงบประมาณหรือไม่”

อนึ่ง โครงการประกันรายได้เกษตรกร ชาวสวนยาง ผ่านมา 2 เฟสแล้ว โดยในโครงการประกันรายได้เกษตรกร ชาวสวนยางระยะที่1 "ธ.ก.ส." ได้โอนเงินให้เกษตรกรวันแรกในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 มีสิทธิเข้า่ร่วมโครงการต้องเป็นเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียน และแจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยางกับ การยางแห่งประเทศไทย  ก่อนวันที่ 12 สิงหาคม 2562

 

พร้อมกับเปิดโอกาสให้เกษตรกรชาวสวนยางแจ้งขึ้นทะเบียนเพิ่มเติมตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่การยางแห่งประเทศไทยกำหนดและต้องมีพื้นที่ปลูกยางพาราอายุ 7 ปีขึ้นไป ที่เปิดกรีดแล้วรายละไม่เกิน 25 ไร่ ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบอนุมัติโครงการประกันรายได้ เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 งบประมาณ 24,278.62 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางกว่า 1.7 ล้านคน ในพื้นที่ปลูกยางพารา 17 ล้านไร่ 

 

ส่วน โครงการประกันรายได้เกษตรกร ชาวสวนยาง ระยะที่2 มติ คณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่ 3 พ.ย.2563 เห็นชอบให้ดำเนินการสำหรับเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับ การยางแห่งประเทศไทย (กยท. ) ทั้งบัตรสีเขียว และบัตรสีชมพู ซึ่งแจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยาง ภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 จำนวน 1,834,087 ราย พื้นที่สวนยางกรีดได้ 18,286,186.03 ไร่ กำหนดระยะเวลาประกันรายได้ 6 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563–มีนาคม 2564 

 

ดังนั้นเพื่อเตรียมความพร้อม เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลสวนยางไว้กับ การยางแห่งประเทศไทย กยท.สามารถตรวจสอบสิทธิ์การเข้าร่วมโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง   ได้ที่ลิงค์  http://www.rubber.co.th/gir/index/

 

อัพเดทล่าสุด \"ประกันรายได้ยางพารา\" เฟส 3 ลุ้นมีหรือไม่ เช็กด่วน