‘เขตศก.พิเศษ-ศูนย์วิจัยฯ’บูมบึงกาฬ เอกชนเตรียมพร้อมรับสะพานข้ามโขง 5

01 ก.ค. 2564 | 11:19 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.ค. 2564 | 18:44 น.

    ภาคเอกชนอีสานตอนบนเร่งเตรียมความพร้อม รับสะพานข้ามนํ้าโขง 5 บึงกาฬ-บอลิคำไซ เสร็จปี 2566 เติมโครงข่ายโลจิสติกส์เชื่อมอนุภูมิภาคลุ่มนํ้าโขง ชงรัฐตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนบึงกาฬ จับมือมทร. อีสาน ตั้งศูนย์วิจัยฯต่อยอดยางพารา ชูเที่ยวชุมชนหลังโควิดคลาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้นำภาคเอกชนในพื้นที่อุดรธานี-บึงกาฬ เริ่มเคลื่อนไหวเตรียมความพร้อมรองรับการก่อสร้างสะพานข้ามนํ้าโขงแห่งที่ 5 บึงกาฬ-บอลิคำไซที่ลงมือก่อสร้างแล้วมีแผนเสร็จปี 2566 ซึ่งจะเสริมศักยภาพบึงกาฬและกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 (กลุ่มสบายดี) ให้เชื่อมโยงสู่พื้นที่ตอนในของภาคอีสานและส่วนต่างๆ ของประเทศพร้อมกับการสร้างโครงข่ายระบบโลจิสติกส์ในกลุ่มอนุภาคแม่นํ้าโขงให้เกิดความสมบูรณ์แบบรวมไปถึงประเทศจีนตอนใต้
นายเจตน์ เกตุจำนงค์ ประธานสหกรณ์การเกษตรเครือข่ายเกษตรกรจังหวัดบึงกาฬ จำกัด     

นายเจตน์ เกตุจำนงค์ ประธานสหกรณ์การเกษตรเครือข่ายเกษตรกรจังหวัดบึงกาฬ จำกัด /ประธานสันนิบาตสหกรณ์จังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า สะพานข้ามนํ้าโขง ตอนนี้คืบหน้าไป 5% แต่ก็สร้างความมั่นใจให้ชาวบึงกาฬว่าได้สะพานแน่ และจะแล้วเสร็จในปี 2566 ซึ่งจะเป็นประโยชน์โดยตรงกับชาวบึงกาฬและกลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนบน 1 “สิ่งที่ต้องทำตั้งแต่วันนี้ คือ เตรียมความพร้อมรองรับเมื่อสะพานเสร็จ ไม่ว่าจะเป็นด้านดีหรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเพื่อให้ทุกพื้นที่ได้รับผลประโยชน์ร่วมกันอย่างประสิทธิภาพสูงสุด จากการสร้างความเชื่อมั่น สร้างศักยภาพเพิ่มเติมให้กับจังหวัด”
    

ด้านนายธนวณิช ชัยชนะประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า ที่เป็นห่วงจากบทเรียนของโครงการสะพานมิตรภาพแห่งอื่น ๆ คือ พื้นที่ที่ตั้งสะพานได้รับประโยชน์น้อย เป็นแค่ทางผ่านไป-มา ของสินค้าและผู้คน ทำอย่างไรให้พื้นที่ตั้งตัวสะพานได้รับประโยชน์สูงสุดและเกิดการเชื่อมโยงกับพื้นที่ใกล้เคียง ที่จะเกิดได้เร็วคือ การท่องเที่ยว ซึ่งบึงกาฬมีครบทุกมิติ คือ ธรรมมะ ธรรมชาติ ขนบธรรมเนรียมประเพณี และมีความโดดเด่น เช่น ถํ้านาคา หินสามวาฬ ฯลฯ ซึ่งสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว ได้จัดตั้งศูนย์บริการการลงทุนและธุรกิจด้านท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมการลงทุนที่พักร้านอาหาร ภัตคาคาร ศูนย์สินค้าพื้นเมือง ที่ยังมีน้อย
ภาพจำลองสะพานข้ามน้ำโขง 5     
 

‘เขตศก.พิเศษ-ศูนย์วิจัยฯ’บูมบึงกาฬ เอกชนเตรียมพร้อมรับสะพานข้ามโขง 5

ส่วนอุตสาหกรรมอื่น ควรส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ทั้งในและนอกพื้นที่ โดยเฉพาะสาขาเกษตรอุตสาหกรรม เนื่องจากบึงกาฬมีพื้นที่ปลูกยางพารามากและมีผลผลิตเกษตรพืชผักผลไม้นานาชนิด จึงควรจัดตั้งเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนบึงกาฬเพิ่มเติม จากที่มี 10 จังหวัด คือ เชียงรายกาญจนบุรี นราธิวาส หนองคายนครพนม ตราด สงขลา ตาก สระแก้ว
    

นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัยประธานหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า สะพานข้ามแม่นํ้าโขงแห่งที่ 5 จะเติมเต็มโครงข่ายโลจิสติกส์ภาคอีสานตอนบนให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น เสริมกับการก่อสร้างถนนอุดรธานี-บึงกาฬสายใหม่โดยไม่ต้องอ้อมเข้าหนองคาย จากเดิม 220 กิโลเมตร เหลือเพียง 149 กิโลเมตร จะเพิ่มความสามารถการแข่งขันให้บึงกาฬ
  ‘เขตศก.พิเศษ-ศูนย์วิจัยฯ’บูมบึงกาฬ เอกชนเตรียมพร้อมรับสะพานข้ามโขง 5    

‘เขตศก.พิเศษ-ศูนย์วิจัยฯ’บูมบึงกาฬ เอกชนเตรียมพร้อมรับสะพานข้ามโขง 5

นอกจากนี้ สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดบึงกาฬ ยังได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จังหวัดสกลนคร (มทร.อีสาน) จัดตั้งศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี ราชมงคลราชมงคลอีสาน จังหวัดบึงกาฬขึ้น
    “จุดประสงค์หลักคือเพื่อใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาวิจัยพัฒนายางพาราของบึงกาฬ ซึ่งเคยมีโครงการวิจัยแปรรูปยางพารามาก่อน เนื่องจากมีพื้นที่เพาะปลูกยางพารามากสุดในภาคอีสาน รวมถึงวิจัยมิติอื่นๆ ของบึงกาฬด้วย เป้าหมายคือ การท่องเที่ยวการค้า-ขาย การลงทุนเศรษฐกิจสังคมการบริหารจัดการนํ้า เพื่อการเกษตรและอุปโภค-บริโภค การศึกษาของพื้นที่ ให้มีความมั่นคงทุกมิติ ก้าวสู่การเป็นเมืองเศรษฐกิจชายแดนในอนาคตที่จะมีการเปลี่ยนแปลง” นายเจตน์ฯ กล่าว 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,692 วันที่ 1-3 กรกฎาคม พ.ศ.2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง