เปิดสาเหตุ “คมนาคม” ออกกฎหมายเรียกรถผ่านแอปฯ

26 มิ.ย. 2564 | 10:40 น.
863

“คมนาคม” เร่ง กรมขนส่งฯ เดินหน้าออกกฎกระทรวงเรียกรถสาธารณะผ่านแอปพลิเคชัน ด้านราชกิจจาฯออกประกาศมีผลบังคับใช้ ลุยใช้บริการแอปฯ ภายในเดือน ก.ค.64 ดึงรถแท็กซี่ป้ายเหลือง-ป้ายดำ เข้าระบบ หวังคุมเข้มภายใต้กฎหมายลดการเอาเปรียบผู้ใช้บริการ

ปัจจุบันวิถีชีวิตการเดินทางของประชาชนเปลี่ยนไปอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทกลายเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตประจำวัน ล่าสุดกระทรวงคมนาคมเตรียมออกกฎกระทรวงเรียกรถผ่านแอปพลิเคชัน เพื่อเป็นทางเลือกแก่ประชาชนที่ใช้บริการรถสาธารณะ อีกทั้งช่วยเพิ่มความสะดวกในด้านการเดินทางขนส่งสาธารณะมากขึ้น

 

 

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าร่างกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชัน ขณะนี้หากไม่มีการคัดค้านการออกกฎหมายฉบับดังกล่าว เบื้องต้นราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศออกกฎกระทรวงรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2564 โดยกฎกระทรวงกำหนดเครื่องแต่งกาย เครื่องหมาย ประวัติคนขับรถ บัตรประจำตัวคนขับรถ และการแสดงบัตรประจำตัวคนขับรถยนต์สาธารณะ รถยนต์บริการธุรกิจ รถยนต์บริการทัศนาจร และรถจักรยานยนต์สาธารณะ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ขณะเดียวกันหลังกฎกระทรวงประกาศมีผลบังคับใช้แล้วจะมีการออกประกาศกฎหมายฉบับรองเพื่อกำหนดคุณสมบัติ รูปแบบการจดทะเบียนรถสาธารณะและเงื่อนไขผู้ที่ให้บริการรถสาธารณะผ่านแอปพลิเคชัน ราว 4-5 ฉบับเพื่อรองรับกฎกระทรวงฯ หลังจากนั้นคาดว่าจะเริ่มให้บริการแอปพลิเคชันฯได้ภายในปลายดือนกรกฎาคม 2564 

 

 

“การออกกฎกระทรวงดังกล่าว เราต้องมองในมุมมองทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งกลุ่มผู้ใช้บริการ และกลุ่มผู้ให้บริการรถแท็กซี่ ซึ่งปัจจุบันกลุ่มผู้ให้บริการแท็กซี่ส่วนใหญ่ได้เข้าร่วมการให้บริการผ่านแอปฯ มากขึ้น ซึ่งพบว่ามีการคิดค่าหัวคิวราว 20-30% หากกรมฯไม่ดำเนินการใช้กฎกระทรวงฉบับดังกล่าวจะไม่สามารถดำเนินการเอาผิดในกรณีที่กลุ่มผู้ให้บริการแท็กซี่ทั้งป้ายเหลืองและป้ายดำเอารัดเอาเปรียบแก่ผู้ใช้บริการรถสาธารณะได้ ขณะเดียวกันถ้ากลุ่มผู้ให้บริการรถแท็กซี่มีการจดทะเบียนกับกรมฯ แล้วจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของกฎกระทรวง เช่น การเก็บอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม” 

 

 

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อว่า การออกร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ ทางกรมฯ จะเป็นผู้ดำเนินการเพื่อยกระดับการให้บริการรถสาธารณะผ่านแอปพลิเคชันทั้งระบบและสามารถควบคุมกลุ่มแท็กซี่ป้ายดำให้อยู่ในกฎระเบียบได้ถูกต้องตามกฎหมาย ขณะเดียวกันกฎกระทรวงดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ใช้บริการรถสาธารณะปลอดภัยและมั่นใจมากขึ้น เช่น การประกันคุ้มครองรถสาธารณะ การตรวจสภาพรถที่ให้บริการ ผู้ให้บริการมีใบขับขี่สาธารณะ ฯลฯ ส่วนการกำหนดอัตราค่าโดยสารให้บริการ เบื้องต้นทางกรมฯ อยู่ระหว่างการกำหนดเงื่อนไขอัตราค่าโดยสารในรูปแบบมิเตอร์หรือรูปแบบแอปพลิเคชันว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งจะเป็นช่องทางที่เพิ่มรายได้ให้แก่รถสาธารณะ

 

 

“เราได้มีการพูดคุยกับกลุ่มแท็กซี่ที่สนใจเข้าร่วมการใช้บริการแอปฯ ภายใต้กฎกระทรวงดังกล่าว ซึ่งเล็งเห็นว่าการกำหนดอัตราค่าโดยสารในรูปแบบมิเตอร์หรือในรูปแบบของแอปฯ ก็ได้ทั้งนั้น แต่ต้องให้ผู้ใช้บริการสามารถทราบอัตราค่าโดยสารในการใช้บริการรถสาธารณะ รวมทั้งไม่อยากให้อัตราค่าโดยสารของกลุ่มแท็กซี่ป้ายเหลืองสูงกว่ากลุ่มแท็กซี่ป้ายดำ ขณะเดียวกันเราต้องรับรองผู้ที่ใช้บริการผ่านแอปฯ โดยผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมใช้บริการแอปฯ จะต้องเสนออัตราค่าโดยสาร รวมทั้งต้องยอมรับเงื่อนการใช้แอปฯร่วมกันระหว่ากลุ่มแท็กซี่ป้ายเหลืองและกลุ่มป้ายดำ ขณะนี้มีผู้ประกอบการสนใจเข้าร่วมการจดทะเบียนกับทางกรมฯ เพื่อให้บริการผ่านแอปพลิเคชัน ราว 2-3 ราย”

 

 

ทั้งนี้การใช้บริการรถสาธารณะผ่านแอปพลิเคชันดังกล่าวจะมีการระบุคุณสมบัติและเงื่อนไขทั้งกลุ่มแท็กซี่ป้ายเหลืองและกลุ่มป้ายดำ โดยอยู่ในระบบเดียวกันเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ใช้บริการรถสาธารณะผ่านแอปฯ โดยปัจจุบันมีแท็กซี่ที่จดทะเบียนในระบบกับกรมฯ ราว 100,000 คัน แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาด ส่งผลให้แท็กซี่ในระบบสามารถวิ่งให้บริการราว 40,000-50,000 คัน

 

เปิดสาเหตุ “คมนาคม” ออกกฎหมายเรียกรถผ่านแอปฯ

 

สำหรับการกำหนดอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารและค่าบริการอื่นๆสำหรับรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ดังนี้ 1.รถขนาดเล็กและรถขนาดกลาง ระยะทางไม่เกิน 2 กม.แรกไม่เกิน 50 บาท กม.ต่อไป คิดอัตราไม่เกิน 12 บาทต่อกม. กรณีรถติดคิดอัตรา ไม่เกิน 3 บาทต่อนาที ส่วนค่าบริการอื่นๆเพิ่มเติม เช่น ค่าเรียกผ่านศูนย์หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ไม่เกิน 50 บาท ค่าบริการเพิ่มกรณีอื่นตามที่กระทรวงคมนาคมประกาศกำหนด (ค่าใช้บริการเร่งด่วน: RUSH HOUR) ไม่เกิน 200 บาท 2.รถขนาดใหญ่ ระยะทาง 2 กม.แรก ไม่เกิน 200 บาท กม.ต่อไป คิดอัตราไม่เกิน 30 บาทต่อกม. กรณีรถติดคิดอัตราไม่เกิน 10 บาทต่อนาที ส่วนค่าบริการอื่นๆเพิ่มเติม เช่น ค่าเรียกผ่านศูนย์หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ไม่เกิน 100 บาท ค่าบริการเพิ่มกรณีอื่นตามที่กระทรวงคมนาคมประกาศกำหนด (ค่าใช้บริการเร่งด่วน: RUSH HOUR) ไม่เกิน 200 บาท

 

 

อย่างไรก็ตามในร่างกฎกระทรวง แบ่งรถยนต์รับจ้างออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1.รถยนต์ขนาดเล็ก (เครื่องยนต์ 50-90 kw) เช่นMarch, Vios, City, Mirage 2.รถยนต์ขนาดกลาง (เครื่องยนต์ 90-120 kw) เช่น Altis, Civic 3.รถยนต์ขนาดใหญ่ เช่น Accord, Fortuner โดยการวัดกำลังเครื่องยนต์หรือมอเตอร์ไฟฟ้า ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กรมการขนส่งประกาศกำหนด กรณีที่รถใช้มอเตอร์ไฟฟ้าในการขับเคลื่อนมีความเร็วสูงสุด 120 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป