เปิด 9 เมกะโปรเจคต์ บูมท่องเที่ยวสุรินทร์-บุรีรัมย์

18 มิ.ย. 2564 | 15:54 น.
1.0 k

"คมนาคม" เดินหน้า 9 เมกะโปรเจกต์ เร่งพัฒนาขนส่งทางบก-ทางน้ำ หวังสนับสนุนท่องเที่ยวสุรินทร์-บุรีรัมย์

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ตรวจติดตามผลการดำเนินงานโครงการเร่งด่วนของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม และแผนการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมและส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดสุรินทร์ละบุรีรัมย์ เนื่องจากที่ผ่านมา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้รับผิดชอบแนวคิดการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดสุรินทร์ โดยเสนอต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันในพื้นที่จังหวัดที่รับผิดชอบ เพื่อให้การพัฒนาและแก้ไขปัญหาในระดับจังหวัดสามารถขับเคลื่อนโดยเร็ว

 

 

สำหรับโครงการที่กระทรวงคมนาคมได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางบกและทางน้ำ 9 โครงการประกอบด้วย

 1. โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 226 ตอนลำน้ำชี - ห้วยทับทัน กม. ที่ 171+182 -233+891 ระยะทาง 62.709 กม. แบ่งออกเป็น 6 ช่วง โดยช่วงที่ 1 ช่วงที่ 3 และช่วงที่ 5 เป็นทางขนาด 4 ช่องจราจร ช่วงที่ 2 ยังไม่ได้รับงบประมาณ อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ช่วงที่ 3 ช่วงที่ 4 และช่วงที่ 6 ได้รับจัดสรรเงินงบประมาณปี 2564 ประมาณ 800 ล้านบาท อยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญาจากบริษัทผู้รับจ้าง

2. โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 2077 ตอนสุรินทร์ - ลำดวน - บัวเชด กม. ที่ 2+305 -70+728 ระยะทาง 66.707 กม. แบ่งออกเป็น 9 ช่วง โดยช่วงที่ 1 ช่วงที่ 4 และช่วงที่ 6 เป็นทางขนาด 4 ช่องจราจร ช่วงที่ 3 ช่วงที่ 5 และช่วงที่ 7 กำลังดำเนินการในปี 2564 ช่วงที่ 2 และช่วงที่ 8 ได้รับงบประมาณปี 2564 ประมาณ 600 ล้านบาท อยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญาจากบริษัทผู้รับจ้าง ช่วงที่ 9 เป็นทางขนาด 2 ช่องจราจร อยู่ระหว่างรอรับงบประมาณปี 2566

3. โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 2378 ตอนจอมพระ - สะพานบุรีรินทร์ กม. 0+000 - 20+040 ระยะทาง 20.040 กม. แบ่งออกเป็น 10 ช่วง โดยช่วงที่ 2 ช่วงที่ 4 ช่วงที่ 7 และช่วงที่ 9 เป็นทางขนาด 4 ช่องจราจร ช่วงที่ 6 อยู่ระหว่างดำเนินงานในปี 2564 ช่วงที่ 1 ช่วงที่ 3 ช่วงที่ 5 ช่วงที่ 8 และช่วงที่ 10 อยู่ระหว่างขอรับจัดสรรงบประมาณเงินกู้ปี 2565

4. โครงการยกระดับมาตรฐานทางถนนสาย สร.4026 แยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2378 - อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ เพื่อเชื่อมโยงหมู่บ้านช้างบ้านตากลาง และเป็นทางเลือกอีกเส้นทางหนึ่งในการเดินทางจากตัวเมืองสุรินทร์ไปยังท่าอากาศยานบุรีรัมย์ ปัจจุบันเป็นถนน 2 ช่องจราจร ขนาดความกว้างของถนน 9 เมตร จะมีช่องจราจรรวม 6 เมตร และขนาดความกว้างของถนน 12 เมตร จะมีช่องจราจรรวม 7 เมตร เป็นช่วง ๆ ซึ่งตามแผนงานจะทำการขยายถนนที่มีความกว้าง 12 เมตรให้มีช่องจราจรรวม 7 เมตร ตลอดสาย

 5. โครงการก่อสร้างสะพานข้ามลำชี บ้านโคกเพชร อำเภอเมืองสุรินทร์และอำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์ มีความยาว 290 เมตร ถนนเชิงลาดยาว 5,225 เมตร ปัจจุบันมีความคืบหน้า 58.89% เร็วกว่าแผน 18.66% จากแผนการก่อสร้าง 40.23%

 

 

6. การพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ “พัฒนาแหล่งน้ำ สร้างอีสานเขียว ท่องเที่ยวปลอดภัย วิถีใหม่ชุมชน” โดยสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 7 และสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขา ร่วมกับสำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 8

 

7. การดำเนินโครงการขุดลอกต่างตอบแทน เพื่อประหยัดงบประมาณแผ่นดินและทำให้มีพื้นที่ที่สามารถรองรับน้ำได้ โดยสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคบูรณาการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

8. โครงการก่อสร้างถนนลาดยาง สาย สร.6052 อ่างเก็บน้ำห้วยเสนง - บ้านละเอาะ อำเภอเมืองสุรินทร์ มีความยาวตลอดเส้นทาง 25,600 กิโลเมตร ระยะเวลาดำเนินการเริ่มสัญญาวันที่ 29 มกราคม - 4 กรกฎาคม 2564 รวมระยะเวลาการก่อสร้าง 157 วัน ซึ่งในปีงบประมาณ 2564 ได้ดำเนินการก่อสร้างในช่วง กม. 7+530.000 - 11+230.000 มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งประชาชนรับทราบและเห็นชอบโดยไม่มีข้อขัดแย้งใด ๆ เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยให้การสัญจรไปมาได้สะดวกยิ่งขึ้น แก้ปัญหาน้ำท่วมขังถนน ลดการเกิดอุบัติเหตุและเป็นเส้นทางเชื่อมต่อการเดินทางไปยังศูนย์ราชการแห่งใหม่ได้อีกทางหนึ่ง

9. สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดสุรินทร์ เป็นศูนย์รวมการรับ - ส่งผู้โดยสาร และรับ - ส่งพัสดุภัณฑ์ ตั้งอยู่บนถนนจิตรบำรุง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ มีการเตรียมความพร้อมด้านยานพาหนะและพนักงานขับรถยนต์เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน และช่วยลดค่าครองชีพผู้โดยสารที่มีรายได้น้อยด้วยการจำหน่ายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

 

นอกจากนี้ยังได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อไวรัส COVID-19 เพื่อให้ผู้โดยสารมีความเชื่อมั่นในการใช้บริการได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้หากโครงการก่อสร้างต่าง ๆ แล้วเสร็จทั้งหมดจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายการคมนาคมขนส่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดได้อย่างเป็นรูปธรรม สามารถรองรับปริมาณการเดินทางและขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งในช่วงเวลาปกติและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาล