เฮ สำนักงบฯ ไฟเขียว “เยียวยานมโรงเรียน”  กว่า  1,167 ล้าน นัด แจกเด็ก 19 เม.ย.

14 เม.ย. 2564 | 16:00 น.
1.1 k

ประธานชุมนุมฯ เผย “ไทม์ไลน์”  เยียวยานมโรงเรียน” กว่า  1,167 ล้าน หลัง สำนักงบไฟเขียว เตรียมนัดแจกเด็ก 19 เม.ย.นี้

ย้อนไปเมื่อ วันที่ 24 มีนาคม 2564 นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานคณะกรรมา ธิการวิสามัญพิจารณาติดตาม ตรวจสอบ การใช้เงินตามพระราชกำหนด 3 ฉบับ เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบ จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ “โควิด-19” ได้นัดประชุมด่วนที่สุด เพื่อติดตามความคืบหน้าการอนุมัติใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและผู้ประกอบผลิตภัณฑ์นม (ก่อนหน้านั้น ครม.มีมติ (12 ม.ค.64) อนุมัติกรอบวงเงิน 1,477.75 ล้านบาท ในการเยียวยา แต่ยังไม่สามารถจ่ายได้) โดยสำนักงบประมาณระบุเรื่องยังไม่ครอบคลุม และตีกลับเรื่องให้พิจารณาใหม่

 

ล่าสุด  หนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่  9 เมษายน  2564  เรื่องขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ.2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็น สำหรับดำเนินโครงการเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม พลิกฟื้นเศรษฐกิจภีคการเลี้ยงโคนมและผลิตภัณฑ์นม  มีความคืบหน้าตามลำดับ

นัยฤทธิ์ จำเล

 

นายนัยฤทธิ์ จำเล ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2564 เวลาประมาณ 17.00 น. กรมปศุสัตว์ได้รับหนังสือตอบจากสำนักงบประมาณอย่างไม่เป็นทางการแล้ว โดยสำนักงบประมาณแจ้งว่านายกรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการให้กรมปศุสัตว์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานโครงการเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม พลิกฟื้นเศรษฐกิจภาคการเลี้ยงโคนมและผลิตภัณฑ์นม ภายในวงเงินกว่า 1.167 ล้านบาท  เพื่อจัดซื้อผลิตภัณฑ์นมให้เด็กนักเรียน คนละ 24 กล่อง

 

“ทางกรมปศุสัตว์จะแจ้งสิทธิการจำหน่ายให้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมร่วมโครงการฯ ทราบ ในวันที่ 16 เมษายน 2564 และแจ้งเวียนผลการจัดสรรพื้นที่จำหน่ายให้คณะอนุกรรมการบริหารโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนรับทราบ และแจ้งผลการจัดสรรสิทธิและพื้นที่การจำหน่ายในหน่วยจัดซื้อ และองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป”

นายนัยฤทธิ์ กล่าวอีกว่า ในวันที่ 19 เมษายน 2564  เป็นต้นไป หน่วยจัดซื้อกับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมดำเนินการจัดซื้อทำสัญญาและส่งมอบผลิตภัณฑ์นมในโครงการเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม

 

ในหนังสือของสำนักงบประมาณ  นายเดชาภิวัฒน์  ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ได้ระบุข้อความว่า หากมีงบประมาณเหลือจ่ายหรือคาดการณ์ได้แน่ชัดว่าจะเหลือจ่ายขอให้นำส่งคืนสำนักงบประมาณภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ทราบยอดงบประมาณเหลือจ่ายดังกล่าว

 

ทั้งนี้การจัดสรรตามจำนวนเด็กนักเรียนที่อยู่ในความรับผิดชอบ

1.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น                         866,220,096  บาท

2.สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ              256,545,576  บาท

3. กรุงเทพมหานคร                                         43,405,656  บาท

4.เมืองพัทยา                                                  831,104  บาท